วันที่ 9 ตุลาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกทม. นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวภายหลังร่วมหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรื่อง ข้อเสนอนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภคกรณีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบที่เข้าข่ายขัดต่อกฎหมาย ว่า จากการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ กทม.ทบทวนและยุติการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบ พร้อมยื่นข้อเสนอจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา วันนี้ได้มีการนัดหารืออีกครั้ง เรื่องข้อร้องเรียนจากชุมชนซอยประดิพัทธ์23 ซอยพหลโยธิน37 และซอยรัชดาภิเษก44 ซึ่งมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบ และมีความกว้างของถนนไม่ถึง 6 เมตร ไม่สามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม. ถึง 10,000 ตร.ม.ได้ตามกฎหมายควบคุมอาคารกำหนด รวมถึง การหารือเรื่องการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ปี 2562

 

จากการหารือ ได้ข้อสรุปว่า เรื่องการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบ กทม.จะนำไปทบทวนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายควบคุมอาคาร โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมายควบคุมอาคาร หรือข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นไปตามสภาพความจริงในปัจจุบัน สอดคล้องกับลักษณะของเมืองมากขึ้น ส่วนเรื่องผังเมือง ได้ข้อสรุปว่า จะมีการนัดหารือกับกรรมการพิจารณาร่างผังเมืองรวมร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม

 

ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ได้รับเรื่องและมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมอาคาร ผู้อำนวยการเขต ผู้อำนวยการสำนักการโยธา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลข้อร้องเรียน และปัญหาเกี่ยวกับผังเมืองที่เกิดขึ้นโดยตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกทม.กับสภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อดำเนินการต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อร้องเรียนโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบ ตามเอกสารจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุถึง โครงการ เอส-ประดิพัทธ์ (ประดิพัทธ์ ซอย 23) จะมีการก่อสร้างอาคารสูง 8 ชั้น จํานวน 219 ห้อง ที่จอดรถ 68 คัน คิดเป็นประมาณร้อยละ 31.05 โครงการ เดอะมูฟ-พหลโยธิน (พหลโยธิน ซอย 37) จะมีการก่อสร้างอาคารสูง 8 ชั้น จํานวน 230 ห้อง ที่จอดรถ 80 คัน คิดเป็นประมาณร้อยละ 34.78 และ โครงการ เอส-รัชดา(รัชดาภิเษก ซอย 44) จะมีการก่อสร้างอาคารสูง 8 ชั้น 2 อาคาร จํานวน 530 ห้อง ที่จอดรถ 150 คัน คิดเป็นประมาณร้อยละ 28.3 โดยทั้ง 3 โครงการ มีประเด็นปัญหา เรื่อง ความกว้างของถนนไม่ถึง 6 เมตร ไม่สามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ หรืออาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม. ถึง 10,000 ตร.ม. ได้ รวมถึงข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งขาดการรับฟังจากชุมชนโดยรอบ ทำให้ชุมชนใกล้เคียงได้รับผลกระทบเรื่องอาคารบังแดด บังลม และกังวลเรื่องไฟไหม้ เพราะขนาดของถนนเข้าออกไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด อาจส่งผลต่อการเข้าถึงพื้นที่ของรถดับเพลิง

 

จึงขอให้กรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่นระงับขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างทั้ง 3 โครงการดังกล่าว เพื่อทําการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้านทั้งเรื่องความกว้างทางสาธารณะ เรื่องสิ่งแวดล้อม ลักษณะกายภาพของชุมชน โดยพิจารณาจากบริบทของชุมชน และการพัฒนาของเมืองเป็นหลัก