บมจ.เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป หรือ SAFE เตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 94 ล้านหุ้น หลังสำนักงาน ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง เพิ่มศักยภาพศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรครบวงจร “เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ เซ็นเตอร์” ต่อยอดจุดแข็งด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและความชำนาญด้านเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ก้าวสู่ผู้นำการรักษาผู้มีบุตรยาก วินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและเวลเนสในภูมิภาคเอเชีย
นพ.วิวัฒน์ กว้างคณานุรักษ์ แพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SAFE เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรภายใต้ชื่อ “ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ เซ็นเตอร์” ที่มีบริการแบบครบวงจรโดยมีทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ผู้ชำนาญการด้านเพาะเลี้ยงตัวอ่อน ที่มีประสบการณ์และความชำนาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก และเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์ในประเทศไทย เพื่อก้าวสู่ผู้นำด้านการรักษาผู้มีบุตรยาก ด้านวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนและเวลเนสในภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบันมีศูนย์การแพทย์เพื่อให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากรวม 5 สาขา ได้แก่ สาขาอัมรินทร์ พลาซ่า รามอินทรา ขอนแก่น ภูเก็ต และศรีราชา
โดยจุดแข็งในการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆในอุตสาหกรรมดังนี้ 1) บริษัทประกอบธุรกิจให้บริการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งคาดการณ์อัตราเติบโตของมูลค่าตลาดของโลกเฉลี่ยต่อปีที่ประมาณร้อยละ 13.8 จากปัจจัยด้านอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง และอายุเฉลี่ยของผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการตั้งครรภ์ ส่งผลให้การตั้งครรภ์ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการเจริญพันธุ์เข้ามาช่วยเติมเต็มความฝันในการมีบุตร ทำให้ตลาดการให้บริการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตัวของตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เพิ่มการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน
2)ตั้งอยู่ในประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลก (Fertility Tourism) สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต โดยคาดการณ์ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากทั่วโลกจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.8 แสนล้านบาทในปี 2569 เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15.2 ต่อปี ประกอบกับปัจจัยด้านอัตราค่ารักษาผู้มีบุตรยากของประเทศไทยมีราคาที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา แต่มีมาตรฐานการรรักษาเทียบเท่าสากล ช่วยผลักดันให้กลุ่มบริษัทได้มีโอกาสเข้าถึงลูกค้าชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น
3)เป็นศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรที่ให้บริการแบบ Integrated Full Service มีการให้บริการที่ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพตั้งแต่การวางแผนการมีบุตร การรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี ICSI และ IUI การเลี้ยงตัวอ่อนด้วยเทคโนโลยีตู้เลี้ยงตัวอ่อนแบบพิเศษ และการแช่แข็งและการฝากไข่ อสุจิและตัวอ่อน เพื่อโอกาสการมีบุตรในอนาคต และให้บริการห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนและห้องปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์ที่มีทีมงานนักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบคัดกรองวิเคราะห์โครโมโซมและรังไข่ที่มีประสบการณ์กว่า 10 ปี จากบริษัท เน็ก เจนเนอร์เรชั่น จีโนมิค จำกัด หรือ “NGG” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มาช่วยส่งเสริมธุรกิจรักษาผู้มีบุตรยาก และ NGG ยังเป็นผู้นำด้านเทคโนโลโลยีด้านการรักษาผู้มีบุตรยากโดยให้บริการห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนและห้องปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์ให้กับโรงพยาบาล คลินิกสูตินรีเวช ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร ห้องปฏิบัติการ และบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆทั้งในต่างประเทศและในประเทศ อีกทั้งได้ทำสัญญาให้บริการทางห้องปฏิบัติการเจริญพันธุ์ในศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากในโรงพยาบาลกรุงเทพอุดร เป็นผู้จัดหา จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ ที่จำเป็นต้องใช้ในห้องปฏิบัติการและนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีความรู้ มีความชำนาญการทางการมีบุตรยาก นอกจากนี้ยังให้บริการด้านผิวหนังและความงามโดย บริษัทเซฟ เวลเนส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ภายใต้แบรนด์ “เดอะฟาวเทน เวลเนส เซ็นเตอร์”
4)มีทีมแพทย์และบุคลากรที่มีความชำนาญการและประสบการณ์เฉลี่ยมากกว่า 15 ปี ในการรักษาและการคัดเลือกเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยนับจากปี 2561 ถึงไตรมาส 2/2566 มีสถิติในการเก็บไข่กว่า 7,236 รอบ (OPU Cycle) หรือมากกว่า 1,000 รอบต่อปี และในช่วงปี 2563 ถึงไตรมาส 2/2566 อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะมีการเพิ่มบริการตรวจพันธุกรรมตัวอ่อน (PGT) หรือไม่ก็ตาม ซึ่งอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 40 ถึง 75 โดยอัตราความสำเร็จดังกล่าว คำนวณจากจำนวนคนไข้ที่ตั้งครรภ์ต่อจำนวนคนไข้ที่ใส่ตัวอ่อนทั้งหมด
5)เป็นผู้นำด้านการให้บริการศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตรครบวงจรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการให้บริการด้านการเจริญพันธุ์ระดับสากล บริษัทให้ความสำคัญในด้านการควบคุมคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับสากล โดยมีการพัฒนาและควบคุมคุณภาพการให้บริการและคุณภาพของห้องปฏิบัติการเลี้ยงตัวอ่อนและห้องปฏิบัติการทางด้านพันธุศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันบริษัทได้การรับรองมาตรฐานการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ ISO9001:2015 ในด้านการควบคุมคุณภาพห้องปฏิบัติการเจริญพันธุ์ (Fertility Lab) จากองค์กรสถาบันมาตรฐานอังกฤษ (ประเทศไทย) (British Standard Institute Thailand : BSI Thailand) ได้รับการตรวจประเมินคุณภาพทางห้องปฏิบัติการโดยองค์กรภายนอก (External Quality Assessment : EQA) จากสถาบัน UK NEQAS ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในยุโรปและประเทศอังกฤษ อีกทั้งยังได้รับการรับรองมาตรฐานคลินิกเด็กหลอดแก้วจากสถาบัน RTAC ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
6)เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและด้านวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อน มีการนำเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาให้บริการแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2555 กลุ่มบริษัทได้นำตู้เลี้ยงตัวอ่อนรุ่นใหม่ (Embryoscope) มาใช้เป็นที่แรกในไทยเพื่อใช้ในการติดตามพัฒนาการของตัวอ่อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปี 2557 มีการนำเทคโนโลยีคัดกรองโครโมโซมตัวอ่อนทั้ง 24 โครโมโซมด้วยเทคนิค Illumina NGS (PGT-A) มาใช้แห่งแรกในประเทศไทย และยังได้มีการนำเข้าเทคโนโลยีการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์ (NIPT) และในปี 2562 ได้มีการนำเทคโนโลยีฟื้นฟูรังไข่ Reju O เข้ามาเพื่อใช้เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและอัตราความสำเร็จ เป็นต้น
7)ให้บริการรักษาผู้มีบุตรยากแก่ชาวต่างชาติ พร้อมผู้ดูแลส่วนบุคคลที่สื่อสารได้หลายภาษา (Multi-language Personal Assistant) ให้บริการตลอดกระบวนการรักษา โดยให้การรักษามาแล้วกว่า 3,032 OPU cycles หรือมากกว่า 2,483 ราย อาทิ จีน อินเดีย พม่า เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฯลฯ ทำให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าในหลายประเทศ
8)มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง และมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการให้บริการในปี 2563-2565 เท่ากับ 525.48 ล้านบาท 559.73 ล้านบาท 726.61 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีรายได้รวม 406.57 เพิ่มขึ้น 8.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 42.16 ล้านบาท 78.23 ล้านบาท 161.73 ล้านบาท ส่วนในงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เท่ากับ 87.43 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 21.52 ของรายได้จากการให้บริการ
นางดาริน กาญจนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ภายหลังจาก บมจ.เซฟ เฟอร์ทิลิตี้ กรุ๊ป ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 93,846,800 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 30.88 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้ ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต.ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว โดยการเสนอขายหุ้น IPO ดังกล่าว แบ่งเป็น 1.หุ้นสามัญที่เสนอขายโดยผู้ถือหุ้นเดิม จำนวนไม่เกิน 69,899,000 หุ้น 2.หุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 23,947,800 หุ้น ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้จะส่งผลให้บริษัทมีทุนชำระแล้ว 303,947,800 บาท คิดเป็นจำนวน 303,947,800 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท จากทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว 280,000,000 บาท โดยมีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจในอนาคต ลงทุนขยายสาขา และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ