เสียงดังก้องของเด็กๆ โรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาในเกาะพะงัน ที่ส่งมาเป็นระยะบ่งบอกถึงความตื่นเต้นด้วยแววตาที่ส่องประกายไม่แพ้หมู่ดาวที่เรียงรายภายใต้โดมท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 เมตร หากพูดถึง “ดาราศาสตร์” หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้ดังกล่าวเปรียบเสมือน “วิชาแห่งมวลมนุษยชาติ” ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นให้มนุษย์เข้าใจสิ่งต่างๆ พร้อมค้นหาคำตอบของปรากฏการณ์หลายสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ โดยคำตอบเหล่านั้นเองกลับอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เพราะเป็น   องค์ความรู้ที่ทุกคนมองเห็นได้ เพียงแค่แหงนหน้าขึ้นมองบนท้องฟ้า โดยเฉพาะพื้นที่อย่างเช่นเกาะพะงันซึ่งสามารถมองเห็นดวงดาวเรียงรางท่ามกลางท้องฟ้าโปร่ง  

เพื่อให้เยาวชนและชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์มากขึ้น หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา ร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงจัดกิจกรรม “พาดาวมาหาน้อง” เปิดประตูสู่โลกดาราศาสตร์ หอบความรู้ให้น้องๆ ในพื้นที่เกาะพะงันทั้ง 12 โรงเรียน ได้โคจรเข้ามาใกล้ชิดกับดวงดาวผ่านโรงเรียนในหลายจังหวัดภาคใต้ โดยกิจกรรมล่าสุดจัดขึ้นที่โรงเรียนเกาะพะงันศึกษาเมื่อวันที่ 27-29 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเปิดให้เด็กๆ กว่า 1,440 คน มีโอกาสเข้าชมท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ได้อย่างทั่วถึงทุกโรงเรียน พร้อมร่วมกิจกรรมดูดาวในช่วงเวลากลางคืน 

“ผมตื่นเต้นมากๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสดูดาวในโดมท้องฟ้าจำลองแบบนี้ ซึ่งตอนแรกที่จินตนาการคิดว่าคงจะสวยมากแน่ๆ แต่พอได้เห็นของจริงแล้วภาพต่างๆ เหมือนจริงกว่าที่คิดไว้อีกครับ แถมได้เห็นถึงพื้นผิวของดวงจันทร์ ได้ฟังถึงต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิต พอผมมองไปรอบๆ คือเพื่อนๆ ตื่นเต้นกันทุกคนเหมือนผมเลยเพราะเป็นภาพที่ไม่ได้เห็นบ่อยๆ นอกจากนี้ยังได้ลองใช้เครื่องส่องดูดาว เรียนรู้ดูกลุ่มดาว ทำให้ผมรู้สึกสนุกกับการดูดาวมากขึ้นไปอีกครับ” นายนนทวัฒน์ สุขมา หรือ น้องนนท์ อายุ 17 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเกาะพะงันศึกษาอำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี หนึ่งในตัวแทนของเด็กๆ หลายพันคนที่ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับหมู่ดาวผ่านกิจกรรมนี้กล่าวขึ้นด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นระคนดีใจ 

ไม่เพียงแต่เด็กๆ ชั้นมัธยมศึกษาเท่านั้น แต่น้องๆ วัยประถมศึกษา อย่างเด็กหญิงลัลล์ลลิล ชูจันทร์ หรือ น้องน้ำใจ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านมะเดื่อหวาน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมพาดาวมาหาน้อง โดยได้เล่าความรู้สึกว่า “ความประทับใจหนูให้เต็มหนึ่งร้อยเลยค่ะ เพราะปกติเป็นคนที่ชอบวิชาวิทยาศาสตร์และการทดลองอยู่แล้ว พอได้มาจับอุปกรณ์ของจริง และเป็นครั้งแรกที่ได้มาดูท้องฟ้าจำลองในโดมเลยรู้สึกตื่นเต้นมากเป็นพิเศษ แถมยังได้เห็นภาพดาวสวยๆ เป็นความทรงจำที่จะไม่ลืมเลยค่ะ” 

“เรามองว่าการดูดาวเป็นเพียงปลายทางเท่านั้น แต่ต้นทางที่เป็นจุดประสงค์สำคัญคือการพัฒนาคนผ่านการกระจายโอกาสทางการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ให้เด็กๆ ทั่วประเทศ” นายเฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา ย้ำถึงเป้าหมายหลักที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจและต่อยอดองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ให้เข้าถึงเยาวชนหลากหลายพื้นที่ “ตลอด 4 ปี ที่เปิดให้บริการมา หอดูดาวฯ สงขลามีผู้คนแวะเวียนมาใช้บริการรวมกว่า 7 แสนคน เรามุ่งกระจายโอกาสการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์สู่ภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะส่วนของภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเปิดให้เข้าชมอาจกระจายโอกาสไม่ทั่วถึง ดังนั้นเราจึงทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและชุมชนทั่ว 14 จังหวัดในภาคใต้ เพื่อออกให้บริการนอกพื้นที่และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงดาราศาสตร์มากที่สุด ผ่านการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ที่จับต้องได้จริง เห็นจริงด้วยตาตัวเอง รวมถึงให้เด็กทุกคนในโรงเรียนได้เข้าถึงประสบการณ์อย่างทัดเทียมกันโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” 

    

มือเล็กๆ ของเด็กๆ นักเรียน กำลังเอื้อมไปจับกล้องโทรทรรศน์เพื่อศึกษาการเคลื่อนที่ของหมู่ดาวใต้ท้องฟ้าที่มืดสนิท โดยนอกจากการดูดาวผ่านโดมท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 7 เมตร ระบบฟลูโดม ดิจิทัล ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้เด็กๆ ราวกับกำลังท่องไปในเอกภพแล้ว อีกหนึ่งไฮไลต์ของกิจกรรม พาดาวมาหาน้อง คือการพาน้องๆ ออกจากสภาวะ “จำลอง” มาแหงนมองท้องฟ้าภายใต้หมู่ดาราจริงในช่วงกลางคืน โดยน้องๆ ได้ชมวงแหวนดาวเสาร์ซึ่งแตกต่างจากการมองด้วยตาเปล่าอย่างสิ้นเชิง รวมถึงดาวพฤหัสบดีซึ่งหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะเห็นดาวบริวารด้วยกัน 4 ดวง ไปจนถึงสังเกตรายละเอียดพื้นผิวของดวงจันทร์ พร้อมชมกลุ่มดาวอีกมากมายที่รอให้เด็กๆ และชุมชนเข้าไปทำความรู้จัก ซึ่งสภาพท้องฟ้าทางภาคใต้นั้น ยังเอื้อต่อการสังเกตการณ์ได้ดีในช่วงฤดูฝนของไทยอีกด้วย 

นายอนุชา เตยแก้ว เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา กล่าวเสริมว่า “เพราะดาราศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวของทุกคน ยิ่งเราจุดประกายการเรียนรู้ให้แก่น้อง ๆ เยาวชนมากเท่าไหร่ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้อย่างสนุกสนานจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนอกจากหอดูดาวฯ สงขลาจะเป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนที่สำคัญในภาคใต้แล้ว เรายังมุ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยตรงทั้งการบริการในส่วนพื้นที่หอดูดาวเอง และการกระจายโอกาสผ่านการลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ ซึ่งเราผลักดันการใช้โจทย์วิจัยแนวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิควิศวกรรมขั้นสูงอยู่เสมอ จุดนี้เอง ผมหวังว่าจะช่วยเปิดโอกาสให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ได้อย่างดี เพื่อที่เด็กๆ เหล่านี้จะเติบโตไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีและประเทศในอนาคต” 

เช่นเดียวกับหอดูดาวฯ สงขลา เป้าหมายสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรของเชฟรอน ในฐานะบริษัทพลังงานระดับโลกคือ Human Energy หรือการเชื่อมั่นในพลังคน ดังนั้นการปลูกฝังรากฐานและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เข้าถึงทุกพื้นที่จึงเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของเชฟรอนที่ขับเคลื่อนมาตลอด ซึ่งเชฟรอนได้สนับสนุนงบประมาณให้กับหอดูดาวสงขลาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยังไม่เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน 

นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวย้ำถึงความมุ่งมั่นของเชฟรอนว่า “เชฟรอนมุ่งผลักดันองค์ความรู้ด้านสะเต็มศึกษามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศผ่านการศึกษา โดยดาราศาสตร์ ถือเป็นอีกหนึ่ง      องค์ความรู้สำคัญของมวลมนุษยชาติที่มีบทบาทสำคัญต่อการเข้าใจโลกและสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ดังนั้น เชฟรอนจึงมุ่งกระจายโอกาสการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ให้เยาวชนและประชาชนมากขึ้น รวมถึงทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา อย่างใกล้ชิดเป็นเวลากว่า 6 ปี พร้อมสนับสนุนกิจกรรมดาราศาสตร์มากมาย อาทิ จัดค่ายเยาวชนคนดูดาวเท้าติดทะเล เพื่อเสริมทักษะให้เยาวชนได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ สนับสนุนงบประมาณดูแลและพัฒนาหอดูดาวฯ สงขลา ไปจนถึงกิจกรรมพาดาวมาหาน้องล่าสุดที่จัดขึ้นในพื้นที่เกาะพะงัน  จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยทางบริษัทฯ หวังว่ากิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยขยายพื้นที่การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์มากขึ้น พร้อมจุดประกายความรู้และแรงบันดาลใจให้เยาวชนสามารถต่อยอดและพัฒนาในอนาคตต่อไป” 

เพราะโลก คือดาราศาสตร์ ดังนั้นการ “พาดาวมาหาน้อง” เปรียบเสมือนการพาเยาวชนมาใกล้ชิดกับโลกและเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรามากขึ้น  โดยดาราศาสตร์ที่เปรียบเสมือนความรู้ที่ไกลตัว แท้จริงแล้วกลับใกล้ตัวมากกว่าที่ใครๆ คาดคิด ดังนั้นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือการสัมผัสผ่านประสบการณ์จริง จากโดมท้องฟ้าจำลองซึ่งโคจรฝันและแรงบันดาลใจด้านดาราศาสตร์ สู่การจุดประกายเยาวชนในอีกหลากหลายพื้นที่ต่อไปในอนาคต