เอกชนแนะทบทวนเงินดิจิทัลแบบพุ่งเป้า เน้นเฉพาะคนที่ลำบาก นำงบประมาณไปใช้ในโครงการเร่งด่วนอื่นที่จำเป็น
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า นโยบาย Digital Wallet 10,000 บาท ถือเป็นนโยบายที่ดีของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของประชาชนที่กำลังลำบากอย่างยิ่งจากวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ขั้นต่ำ,ปานกลาง,แรงงาน ,กลุ่มเปราะบางประเภทต่างๆ และคนตกงาน ดังนั้นการเลือกใช้เงิน Digital คือการควบคุมประเภทของการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล (สินค้าหรือบริการที่จำเป็นในการครองชีพ)และให้เงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้เงินหมุนเวียน และกระจายสู่ท้องถิ่นและ SMEs มากที่สุด และไม่กระจุกตัวในสินค้า และช่องทางการตลาดที่ผูกขาดของทุนใหญ่มากเกินไป
ทั้งนี้อยากเสนอแนะรัฐบาล เดินหน้าโครง Digital wallet ทบทวนกลุ่มเป้าหมาย แบบพุ่งเป้า ควรเน้นเฉพาะคนที่ลำบาก เดือดร้อน และเห็นความสำคัญของการใช้เงิน 10,000 บาทนี้จริงๆ เนื่องจากจะได้มีงบประมาณไปใช้ในโครงการเร่งด่วนอื่นๆเช่น ปัญหาภัยแล้ง และควรบริหารโครงการให้มีความโปร่งใส รัดกุมที่สุดใช้เงินอย่างคุ้มค่าในทุกบาททุกสตางค์ รวมถึงติดตามผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และสื่อสารนำเสนอให้สังคมรับทราบเพื่อเป็นการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโครงการ
"เศรษฐกิจในประเทศของเราในวันนี้ ต้องยอมรับว่า ฝืดเคืองอย่างยิ่ง เราต้องการการกระตุ้นการบริโภคเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ จึงอยากเสนอแนะรัฐบาล เดินหน้าโครง Digital wallet ทบทวนกลุ่มเป้าหมายแบบพุ่งเป้าเน้นเฉพาะคนที่ลำบาก เดือดร้อน และเห็นความสำคัญของการใช้เงิน 10,000 บาทนี้จริงๆ ผมปรารถนาที่จะให้ประเทศไทยได้ร่วมกันฝ่าฟันปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ครั้งนี้ให้ผ่านไปได้ด้วยดีด้วยการใช้พลังบวก และลดการโต้ตอบทางการเมืองซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมประเทศไปมากกว่านี้"