เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 สร้างความตื่นตกใจและความเสียหายต่อทั้งชีวิตผู้บริโภค ประชาชน และยังสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน รวมถึง คุณภาพชีวิต จิตใจของประชาชนเป็นวงกว้าง สภาผู้บริโภค ตระหนักว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นภัยที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณชน และถือเป็นสาธารณภัย ตามคำนิยาม ใน พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ที่ครอบคลุม ภัยที่มีผลกระทบกับสาธารณชน ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ และ ผู้ทำให้เกิดขึ้น จึงได้ส่งหนังสือถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้เร่งดำเนินการให้รัฐบาลไทย มีระบบการแจ้งเตือนภัย (Thai Emergency Alert) ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ เซลล์บอร์ดแคสต์ (Cell Broadcast) ในกรณีที่เกิดเหตุด่วน เหตุร้าย หรือเหตุฉุกเฉิน ภัยพิบัติรุนแรง เป็นวงกว้าง
อาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าว สภาผู้บริโภค เห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเป็นรองประธานคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นผู้บัญชาการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติทั่วราชอาณาจักร ควรเป็นผู้สั่งการให้เร่งดำเนินการสร้างระบบแจ้งเตือนสาธารณภัยแห่งชาติ (Thai Alert) โดยแจ้งเตือนผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หรือ Cell Broadcast รวมถึง แจ้งเตือนภัยผ่านโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ทั้งนี้ ต้องประสานการทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กสทช. พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบในการแจ้งเตือนภัยที่เกิดขึ้น ตามระดับความรุนแรงที่ชัดเจน เพื่อการสั่งการให้เกิดความรวดเร็ว ทันสถานการณ์ และอพยพได้ทัน
ปัจจุบัน พบว่า หลายประเทศ มีการนำระบบ Cell Broadcast มาใช้ในการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นวิธีส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือหลายๆ เครื่องในพื้นที่บริการพร้อมกันในคราวเดียว โดยหน่วยงานรัฐสามารถส่งข้อมูลตรงถึงประชาชนได้โดยไม่ต้องผ่านค่ายมือถือ ทำให้สะดวก รวดเร็ว และเหมาะสมกับการแจ้งเหตุด่วนฉุกเฉิน รัฐบาลจากหลายประเทศทั่วโลก ที่มีการนำระบบ Cell Broadcast มาใช้ เช่น สมาชิกประเทศสหภาพยุโรป หรือ อียู มีประมาณ 9 ประเทศ อาทิ ฝรั่งเศสเยอรมันนี เนเธอร์แลนด์ สเปน และเดนมาร์ก โดยที่อีก 7 ประเทศ กำลังเร่งทดลองใช้ระบบนี้ เช่น อิตาลี ออสเตรีย และไอร์แลนด์
ขณะที่ทางฝั่งเอเชีย เกาหลีและญี่ปุ่นใช้ระบบเตือนภัยผ่านมือถือแล้ว ส่วน ประเทศไทย การแจ้งเตือนในระดับชาติ มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หลายแห่ง พัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อแจ้งเตือนแล้วในระดับชาติ แต่ละหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หลายแห่ง มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อแจ้งเตือนแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ(ร่าง)แผนยุทธศาสตร์การบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 2566 -2570 และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำระบบ Cell Broadcast มาใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการแจ้งกระจายข่าวสารเตือนภัยประชาชน
ขณะที่สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ภายในเดือนตุลาคมนี้ จะเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการนโยบาย เพื่อขอยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ผลักดันการจัดทำระบบเตือนสาธารณภัยแห่งชาติ แจ้งเตือนผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หรือ ระบบ Cell Broadcast อย่างจริงจังและสำเร็จเป็นผลงานรัฐบาล โดยการที่ นายกรัฐมนตรี ห่วงใยและสั่งการให้เร่งทำระบบเตือนภัยเหตุฉุกเฉินด้วยแล้ว ก็เชื่อว่า ความร่วมมือของรัฐบาล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และที่ต้องดำเนินการร่วมกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.และผู้ประกอบการโครงข่ายโทรคมนาคม จะทำให้เกิดเป็นผลงานของรัฐบาลใหม่ได้ หลังจากก่อนหน้านี้ได้เคยผลักดันให้จัดทำการแจ้งเตือนผ่านระบบ SMS Alert (SMS แจ้งเตือน) มาแล้วแต่ไม่มีความคืบหน้า และครั้งนี้ ก็หวังว่า กสทช.และผู้ประกอบการโครงข่ายโทรคมนาคม จะให้ความสำคัญกับประโยชน์ ความปลอดภัยและมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมอย่างจริงจัง หลังจากการปล่อยให้บริการโทรคมนาคมมีสภาพกึ่งผูกขาดจากการควบรวมกิจการ การปล่อยให้มิจฉาชีพ คอลเซนเตอร์ หลอกลวงคุกคามดูดเงินประชาชน ซึ่งสภาองค์กรผู้บริโภค มั่นใจว่า หากรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะทำให้เห็นความคืบหน้าของระบบการแจ้งเตือนสาธารณภัยแห่งชาติแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน