“สยามเทคโนโพล” ชี้ปชช.เศร้า-หดหู่เหตุยิงพารากอน หวั่นเกิดเหตุซ้ำ หนุน “มหาดไทย” ออกมาตรการระยะสั้นคุมปืน

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2566 สำนักวิจัย สยาม เทคโน โพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เสนอผลสำรวจ เรื่องมูลเหตุกราดยิง ใครต้องรับผิดชอบ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,103 ตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติ ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 6 – 7 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.1 รู้สึกเศร้าใจ เสียใจ หดหู่ใจ ต่อเหตุกราดยิงที่ห้างพารากอน ร้อยละ 71.8 ระบุ ถึงเวลาแล้วต้องแก้กฎหมาย อายุผู้กระทำผิด ร้อยละ 57.2 ระบุ เร่งหาทางบำบัดฟื้นฟู และป้องกันไม่ให้เกิดการทำซ้ำ ร้อยละ 46.8 ระบุ เร่งเยียวยา จิตใจของผู้รอดชีวิตและเครือญาติผู้เสียชีวิต เมื่อถามถึง สาเหตุ กรณีกราดยิงที่ห้างพารากอน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.6 ระบุ ตัวผู้กระทำความผิดเอง ร้อยละ 69.1 ระบุ ความไม่เข้มงวดของหน่วยงานรัฐ ควบคุมอาวุธปืน ร้อยละ 52.7 ระบุ การอบรมเลี้ยงดูของครอบครัว ร้อยละ 48.0 ระบุ เกม รุนแรง เกมออนไลน์ และร้อยละ 35.7 ระบุ ความง่ายในการเข้าถึงแหล่งค้าอาวุธ ตามลำดับ

นอกจากนี้ เมื่อถามถึง ความเห็นต่อ มาตรการระยะสั้นของกระทรวงมหาดไทย ต่อการคุมอาวุธปืน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.3 เห็นด้วยให้ผู้ครอบครองแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจจะดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ นำไปขึ้นทะเบียนตามภูมิลำเนา ร้อยละ 60.3 เห็นด้วย ให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศ งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือ ค้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด ร้อยละ 50.0 ระบุ ให้กรมศุลกากร ตรวจสอบการนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน เข้มงวด ร้อยละ 48.1 ระบุ ไม่อนุญาตให้รายใหม่ขออนุญาตเป็นผู้ค้า สั่งนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืนเพิ่มอีก และร้อยละ 47.0 ระบุ ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย เข้มงวดกวดขัน สนามยิงปืน

เมื่อถามถึง ใครต้องรับผิดชอบต่อเหตุกราดยิงที่ห้างพารากอน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.5 ระบุ ผู้กระทำความผิด ร้อยละ 79.6 ระบุ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ร้อยละ 40.0 ระบุ ขบวนการดัดแปลง อาวุธปืน ร้อยละ 39.2 ระบุ ห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 23.9 ระบุ เกมรุนแรง เกมออนไลน์ ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.7 กังวลค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด จะเกิดเหตุ กราดยิงซ้ำอีก ร้อยละ 16.5 กังวล ปานกลาง และร้อยละ 17.8 กังวลค่อนข้างน้อย ถึง ไม่กังวลเลย

ด้าน รศ.ดร.โอภาส กิจกำแหง คณบดี คณะบริหารธุรกิจ วิทยาลัยเทคโนโลยี สยาม กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่เศร้าใจเสียใจหดหู่ใจและกังวลว่าจะเกิดเหตุกราดยิงซ้ำ จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขกฎหมายอายุผู้กระทำผิดให้ครอบคลุมในหลายมิติทั้งเรื่องบทลงโทษที่เหมาะสมแก่การสร้างเหตุ และแนวทางในการปรับทัศนคติของเยาวชนให้ถูกต้องเหมาะสม รวมถึงการเอาผิดไปยังขบวนการเครือข่ายที่มีส่วนสนับสนุนการกระทำความผิด ซึ่งความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยต่อมาตรการระยะสั้นของกระทรวงมหาดไทยที่ให้ผู้ครอบครองแบลงค์กัน บีบีกัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่อาจจะดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ นำไปขึ้นทะเบียนตามภูมิลำเนาและให้นายทะเบียนอาวุธปืนทั่วประเทศ งดการออกใบอนุญาตให้สั่ง นำเข้า หรือ ค้า ซึ่งสิ่งเทียมอาวุธปืนทุกชนิด รวมถึงความเข้มงวดการนำเข้าและจำหน่ายสิ่งเทียมอาวุธปืนต่าง ๆ เป็นต้น

“ที่น่าพิจารณาคือ ผู้เกี่ยวข้องที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง ควรต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ถูกกระทำด้วยความเต็มใจเต็มที่อย่างถึงที่สุด ทั้งเรื่องของกรณีของการชดใช้ ชดเชย ความรู้สึกของครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในพื้นที่เกิดเหตุ เช่น คณะผู้บริหาร ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่รัฐ และอื่น ๆ ควรมีกิจกรรมฟื้นฟูเยียวยาความรู้สึกหดหู่ใจ และลดความกังวลของประชาชนในหลากหลายรูปแบบกิจกรรม เช่น การจัดเวทีแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การจัดเวทีกระตุ้นพลังบวกให้เกิดความเป็นปกติสุขของประชาชน ที่ต้องใช้พื้นที่เกิดเหตุให้กลับมาโดยเร็ว หรือการจัดเสวนาเชิงจิตวิทยาในหัวข้อต่างๆ อาทิ “การดูแลบุตรหลานอย่างไรให้ถูกทาง” เป็นต้น  ที่สำคัญคือรัฐบาลมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการสร้างภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น ในด้านการท่องเที่ยวให้กลับมาอย่างเต็มรูปแบบและต่อเนื่อง” รศ.ดร.โอภาส กล่าว