เมื่อวันที่ 8 ต.ค.66 วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556 และนักเขียนรางวัลซีไรต์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความว่า ปกติบรรยากาศวันอาทิตย์จะเบาๆ จึงไม่ค่อยอยากคุยเรื่องการเมือง แต่วันนี้อ่านข่าวแล้วเห็นว่า ถ้าคุยพรุ่งนี้ก็ช้าไป
เมื่อวานนี้ทั่วโลกรับรู้ข่าวสงครามในตะวันออกกลาง ระหว่างฮามาสกับอิสราเอล การรบในตะวันออกกลางเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอๆ รบแล้วเซ็นสัญญาสงบศึก แล้วก็ฉีกสัญญา แล้วรบกันใหม่ เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศอิสราเอลหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ปัญหาเริ่มเมื่อฝ่ายตะวันตกสงสารชาวยิวถูกฮิตเลอร์ฆ่าไปหกล้านคน ก็ไปหาที่ตั้งประเทศใหม่ให้ชาวยิวอยู่ มองซ้ายมองขวาก็ปักหมุดบนดินแดนตะวันออกกลางที่มีคนอาศัยอยู่
ก็รบกันตั้งแต่วันแรกๆ ที่ตั้งประเทศ
ดังนั้นปัญหาตะวันออกกลางจึงมองได้หลายมุม
ที่แปลกใจคือปฏิกิริยาของบ้านเรา นายกรัฐมนตรีโพสต์ข้อความผ่าน X (ทวิตเตอร์) ประณามการโจมตีอิสราเอล "ที่ไร้มนุษยธรรมที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ"
ผมเข้าใจเจตนาของนายกฯ เพื่อแสดงความเห็นใจ แต่ถ้าผมเป็นที่ปรึกษา จะเสนอให้เลือกใช้ภาษากลางๆ กว่านี้
ทำไม?
ก็เพราะต่อให้ผู้นำประเทศโพสต์ข้อความแบบส่วนตัว ก็ถือว่าเป็นตัวแทนของทั้งประเทศ
มันมี consequence (ผลที่ตามมา)
สมัยที่สหรัฐฯบุกอิรัก โดยแหกตาชาวโลกว่า อิรักมีอาวุธร้ายแรง หลายประเทศก็ (ถูกบีบ) ให้เลือกเข้ากับสหรัฐฯ ผลที่ตามมาคือการก่อการร้ายในประเทศที่เลือกข้าง
ถ้าใครคิดว่า consequence เรื่องตะวันออกกลางไกลจะเดินทางมาไม่ถึงไทย ก็ให้ดูสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง
อดีตนายกรัฐมนตรี ลีกวนยิว แห่งสิงคโปร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงสงครามอิรัก ฝ่ายข่าวกรองของสิงคโปร์พบว่า ขบวนการผู้ก่อการร้ายฝั่งเอเชียอาคเนย์ที่ทำงานเชื่อมกับตะวันออกกลาง วางแผนระเบิดบางจุดในสิงคโปร์ ด้วยปริมาณระเบิดมากกว่าเหตุการณ์ Oklahoma City ไม่ใช่เพราะสิงคโปร์ส่งทหารไปรบที่อิรัก แต่เพราะสิงคโปร์อนุญาตให้เรือและเครื่องบินสหรัฐฯแวะจอดที่นั่น
ลีกวนยิวบอกว่า "เราไม่ได้เข้าข้างสหรัฐฯอะไรเลย แค่ให้เขาจอดแวะ เพราะเป็นทางผ่าน แค่นั้นเองก็โดนก่อการร้าย"
แต่สิงคโปร์รอดมาได้ในครั้งนั้น เพราะกลุ่มผู้ก่อการร้ายฝั่งเอเชียอาคเนย์เปลี่ยนแผน พากันยกพลไปอิรักกันหมด เพื่อสู้กับสหรัฐฯ
ลีกวนยิวจึงบอกเสมอว่า "นโยบายเราชัดเจนมาตลอดคือไม่เป็นฝ่ายไหน"
ประวัติศาสตร์มีไว้เรียนรู้ นี่คือเหตุผลที่เราต้องเรียนประวัติศาสตร์
ขอบคุณ เฟซบุ๊ก วินทร์ เลียววาริณ