บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
ปฏิรูปด้านการศึกษาวาระแห่งชาติ ที่ต้องปฏิรูปก่อนเป็นลำดับแรก
ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หนึ่งในวาระเร่งด่วน คือ การปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆ ให้เกิดผลดังต่อไปนี้ คือ ด้านการศึกษา ได้แก่ มาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (1) ให้สามารถเริ่มดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนา ก่อนเข้ารับการศึกษาตามมาตรา 54 วรรคสอง เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ... ให้มีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ณ ปีนี้ 2566 ลองมาย้อนทวนความจำเก่า
บทวิพากษ์การศึกษาไทยสมัยก่อน
ภาพสะท้อนครูแต่ก่อนกับครูปัจจุบันจากนิรนาม สังคมครูกับนักเรียนสมัยก่อนกับปัจจุบันเปลี่ยนไปหรือไม่ ทำไมเด็กอ่านไม่ออก ผมแค่สงสัย เมื่อก่อนตอนผมเด็กๆ ครูของผม ท่านเรียนจบ ปกศ.ต้น ปกศ. สูง ท่านไม่ได้จบ ปริญญาตรี โท เอก ไม่ได้เป็นดอกเตอร์ ครูของผม ท่านไม่มีอบรม ไม่มี child center ยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง, ยึดนักเรียนเป็นสำคัญ, backward design, bbl , plc, stem ฯลฯ ครูของผม ท่านมีเงินเดือนน้อย ไม่กี่ร้อยบาท ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง ไม่มีเงินวิทยฐานะ ไม่มีเงินค่าตอบแทน ครูของผม ท่านไม่ได้มีตำแหน่ง ไม่มีวิทยฐานะใดๆ ไม่มี คศ. 1 คศ. 2 คศ. 3 คศ. 4 ครูผู้ช่วย ครูชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ ครูของผม มีเพียงชอล์ก กับ กระดานดำ ไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก มือถือ จานดาวเทียม ทีวี อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ครูของผม มีห้องเป็นฝาผนังไม้ธรรมดา ใช้ร่มไม้ ลานดิน สนามหญ้าเป็นห้องเรียน ไม่มีห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีห้องคอมพิวเตอร์ ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องๆ ฯลฯ แต่ท่าน สอนนักเรียน ให้เป็นคน ดี มีปัญญา นำพาชีวีมีสุขในสังคม ได้เป็นใหญ่เป็นโต แต่ปัจจุบันครูเรียนจบสูง จบปริญญาตรี โท เอก เป็นดอกเตอร์ ครู อบรมทุกๆ อย่าง เกียรติบัตร โล่เกียรติคุณ ถ้วยรางวัลเต็มห้อง ครู เงินเดือนเยอะ เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ เงินค่าตอบแทน ครู มีตำแหน่งสูงขึ้น ครู มีไฮเทคโนโลยีทุกๆ อย่าง ครู มีห้องแอร์ ห้องปฏิบัติการต่างๆ มากมาย แต่ นักเรียน อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดคำนวณ คิดวิเคราะห์สังเคราะห์แยกแยะไม่ได้ คุณธรรมจริยธรรมศีลธรรมเสื่อมหายไป โชว์เรือนร่างทางโซเชียลหายอดไลก์หาเงิน ยกย่องคนฆ่าหั่นศพ แก้ผ้าโชว์ คนที่ทำไม่ดีทางโซเชียลว่าเป็น เน็ตไอดอล เล่นบอลพนันออนไลน์ เสพยา ขายยาเสพติด ขายตัว มั่วเซ็กซ์ ตบตีกันแย่งผัวแย่งเมียตั้งแต่เป็นนักเรียน ตอนเรียนก็อยู่หอเป็นคู่ผัวตัวเมียกัน ทั้งก่อคดีฆ่าข่มขืน โดดตึกตาย ฆ่าตัวตาย ปัญหาสังคม อาชญากรรมเต็มบ้านเต็มเมือง ฯลฯ อดีตและปัจจุบัน สวนทางกัน ตรงกันข้ามกันทุกๆ อย่าง ครูของผม ท่านไม่มีอะไรสักอย่าง สอนอย่างเดียว แต่ เด็กเก่งดีมีปัญญาพาชีวีมีสุข ครูของผม สอนเสริมให้ผมฟรี แถมยังทำขนมให้ผมกินอีก ครูปัจจุบัน มีทุกอย่าง ทำทุกอย่าง แต่เด็กมีปัญหา กระทรวงศึกษาธิการ ทำอะไรผิดพลาดไปหรือเปล่า ผมแค่ สงสัย
ว่าด้วย "คานงัด" เพื่อการพัฒนาประเทศ
เพราะ คาน (lever) อาศัยหลักการของโมเมนต์ (แรงสมดุลของการหมุน) ด้วยเปรียบเสมือนการงัดด้วยคานที่มีจุดหมุน (Fulcrum) ที่เหมาะสม ก็ไม่ต้องออกแรงมาก ในจุดที่เหมาะสมในการผลักดัน สนับสนุน พลิกฟื้นโอกาสพัฒนาให้ได้เปรียบเชิงกลเสมือนการงัดด้วยคานที่มีจุดหมุนที่เหมาะสม โดยมี “จุดค้ำจุน” (fulcrum) ที่จะรองรับไม้คาน มีการกล่าวถึง “จุดคานงัด” ในการปฏิรูปสังคมว่าจะต้องมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร นักวิชาการเสนอถอดบทเรียนที่สำคัญใน 2 กรณีของการปฏิรูปที่ยาก คือ การปฏิรูปการศึกษา (Education Reform) และการปฏิรูปภาษี (Tax Reform) การปฏิรูปประเทศที่สำเร็จนั้นมีจุดคานงัดที่สำคัญ "สามคานงัดสังคมไทย" (อ้างจาก วรากรณ์ สามโกเศศ, 2561) คานงัดสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ถ้างัดถูกจุดด้วยพลังอย่างเต็มที่ โดยเห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ประกอบด้วย (1) อุปสรรคของธุรกิจ SMEs ในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา (2) การขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในเวลาอันควร และอย่างมีธรรมาภิบาล (3) การปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้เงินเพื่อการศึกษาของประเทศไทยปีละ 400,000 ล้านบาท (สี่แสนล้านบาท) แต่กลับไม่ได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่น่าพอใจจากการผลิตนี้ ซึ่ง ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สสวท. (2563) เชื่อว่าคานงัดการศึกษาไทยคือ “ครู” เสนอใช้วิกฤตโควิด เป็นโอกาสปรับการจัดการศึกษาครั้งใหญ่ รับวิถีนิวนอร์มัล พัฒนาครู พร้อมสู่โลกยุคใหม่ ดึงราชภัฏ เอกชน ประชาสังคม และชุมชน เป็นพี่เลี้ยง
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ (2563) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษในการจัดงาน “20 ปี พอช. พลังองค์กรชุมชนท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เรื่อง “เศรษฐกิจฐานราก คือ คานงัดความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและความมั่นคงของประเทศ” มีใจความว่า ในวาระครบรอบ 20 ปี ขององค์กรแห่งนี้ สิ่งที่จะนำเรียน เป็นเรื่องที่สำคัญ โลกหลังโควิด-19 เป็นโลกที่ไม่ใช่ใบเดิมอีกต่อไป สิ่งต่าง ๆ อาจจะต้องถูก reset การขับเคลื่อนโลกในวันนี้ ณ วันนี้โลกได้เปลี่ยนแปลงไป ที่พวกเราเคยได้ยินได้ฟังเรื่องกระแสโลกาภิวัตน์ พอเกิดโควิด-19 หลายอย่างเริ่มไม่ใช่อีกต่อไป ณ วันนี้โลกกำลังสวิงกลับมาจากโลกาภิวัตน์จะกลับมาสู่เรื่องชุมชนภิวัฒน์ localization จากนี้จะไปวัดด้วยขีดความสามารถของเศรษฐกิจฐานราก จากนี้ไปทุกประเทศต้องกลับมาพึ่งพาตนเอง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องการพึ่งพาตนเองนั้นมีพลังอย่างยิ่ง
การศึกษาเพื่อเด็กเปราะบาง
23 มิถุนายน 2561 ยังจำเหตุการณ์ 13 ชีวิตทีมหมูป่าติดถ้ำหลวง ที่จ.เชียงราย ดังไปทั่วโลกหลังจากกู้ชีวิตคนทั้งหมดได้แล้ว มีเรื่องสำคัญที่ได้รับการเยียวยาแทบจะทันใดคือ การช่วยเหลือให้เด็กและโค้ชที่ยังไม่มีสถานะบุคคลเป็นคนไทย ได้รับสัญชาติไทยกัน นี่เป็นจุดชี้ให้เห็นว่าเด็กดอยด้อยโอกาสในป่าเขา ชายแดนห่างไกล ยังมีปัญหาเรื่องสถานะบุคคลอยู่ การสร้างโอกาสให้แก่เด็กและบุคคล “เปราะบาง” เหล่านี้ให้ผูกพันในความเป็นไทยก็คือเรื่องการศึกษา ปัจจุบันเด็กไทยกว่า 8 แสนคน (กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษ) ประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่ต้องหยุดเรียน เพื่อออกไปทำงาน หลุดจากการศึกษาไป โดยเฉพาะเด็กเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์และคนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย ที่สำคัญบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดไทยหากเรียนจบ ป.ตรี ก็มีโอกาสได้รับสัญชาติไทยด้วย ปี 2565 อดีต สว. เตือนใจ ดีเทศน์ จึงมีโครงการเปิดรับระดมทุนดำเนินการในพื้นที่ จ.เชียงใหม่, ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้เด็กไร้สัญชาติจำนวน 5 คน ได้เรียนมหาวิทยาลัยจนจบ
การศึกษาเชิงพาณิชย์
ค่านิยมการศึกษามีการแตกแขนง หลักสูตร สาขาต่างๆ ทั้งการศึกษาระยะสั้น ระยะยาว การศึกษาออนไลน์ การศึกษาอบรม สัมมนา วิชาการ เข้าคอร์สเข้าชั้นอบรม มีมากมาย ทั้งการเรียน ด้านการอาชีพ การศึกษาพิเศษ การสอนเสริม การฝึกทักษะ มีสำนักติวสอบเพื่อการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง การเข้าสอบแข่งขันต่างๆ การเรียนเพื่อเพิ่มวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอกภาคพิเศษ เปิดหลายมหาวิทยาลัย ด้วยค่าเทอมที่แพง การศึกษาดังกล่าวนี้ไม่ได้หมายรวมถึงการศึกษาของระบบราชการหรือองค์กรเอกชน ในระบบ in-service training ซึ่งเป็นการศึกษาอบรมภายในหน่วยงานแก่บุคลากรของตน และยังไม่ได้รวมถึงการอบรมประชาชน หรือการบริการสังคม ตามอำนาจหน้าที่ของรัฐหรือของหน่วยงานเอกชน หน่วยงาน NGO
ระบบการศึกษาไทยยังเหมือนเดิม “ปฏิรูปการศึกษาเหลว”
สมาคมผู้บริหารการศึกษาฯ จี้ทบทวนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีโครงการพระราชดำริลดความเหลื่อมล้ำพัฒนาการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม สวนดุสิตโพล ชี้ปัญหาการศึกษาไทยมาจากความเหลื่อมล้ำ-การบริหารงานของกระทรวง ศธ. ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ (2565) กล่าวว่า ช่วง 8 ปีที่ผ่านมาการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ใช้คนเข้ามาปฏิรูปประเทศจำนวนมาก มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ 250 คน มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 ชุด มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ. 5 คน และมีรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.อีก 8 คน มีรายงานการปฏิรูป 130 เล่ม มีวาระการปฏิรูป 37 วาระ และมีข้อเสนอการปฏิรูป 1,342 ข้อ เป็นยุคที่นักการเมืองเกรงตามใจข้าราชการ ไม่ได้ยึดประโยชน์นักเรียน เป็นการบริหารแบบ “รัฐราชการรวมศูนย์” ติดหล่มอยู่กับที่ไม่ไปไหน มีการใช้อำนาจเพิ่มมากขึ้น เช่น การใช้อำนาจ คสช.ที่ออกมาจัดการควบคุมการศึกษามากกว่า 14 ฉบับ แต่ไม่ช่วยให้การศึกษาไทยดีขึ้น กลับสร้างความขัดแย้งขึ้นกับ ศธ.มากขึ้น เช่น การออกคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.ที่สร้างความขัดแย้งระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นต้น ระบบต่างๆ กำลังกัดกินเด็ก ทำการศึกษาเสียไปแล้ว 70% เหลือแค่ 30% ยังมีส่วนที่ดีบ้าง เช่น มี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ การเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวใหม่ มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาปฏิรูปประเทศ แต่ต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะนำเด็กเป็นที่ตั้งในการพัฒนาแก้ไขปัญหา และนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ต้องไม่กลัวการต่อต้านของข้าราชการ ต้องกล้าสังคายนาระเบียบกฎเกณฑ์ และมองความต้องการของประชาชน และเด็กเป็นที่ตั้ง
ไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ประธานมูลนิธิเด็กวัด (14 กันยายน 2565) กล่าวว่า จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย (2561-2580) เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องนำไปสู่ การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียง” เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน ยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ คาดหวังว่าประเทศไทยจะอยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ International Institute for Management Development (IMD) ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่เน้นปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงอันดับที่ 25-30 โดยมีจุดอ่อนในด้านประสิทธิภาพการผลิต ด้านโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา ซึ่งผ่านไปแล้ว 4 ปี วันนี้อันดับทางการศึกษาของประเทศไทยนั้นตกลงไปอยู่ที่ 56 ในการเปรียบเทียบจาก 64 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับ 8 ในอาเซียน ซึ่งต้องถือว่า “นโยบายการศึกษาล้มเหลว”
อะไรคือปัจจัยของความล้มเหลวทางการศึกษาของชาติ เราควรที่จะต้องยอมรับเสียทีว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปไกลมากถึงขนาดที่ผู้ใหญ่ตามเด็กไม่ทันแล้ว เด็กสมัยนี้ไม่ได้ต้องการระบบการศึกษาแบบสอบแข่งขัน ไม่ได้ต้องการความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่สิ่งที่เขาต้องการคือการอยู่รอดในสังคมอย่างมีคุณภาพตามวิถีของการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากกว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ระบบการศึกษาของไทยจะต้องถูกจัดระเบียบขึ้นมาใหม่ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เปิดโอกาสมากขึ้น เรียนรู้กระบวนการทางเทคโนโลยีให้มากขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือการสอนให้เยาวชนของชาติได้เรียนรู้จารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่ถูกต้อง มีคุณธรรมและจริยธรรมให้มาก การสอบแข่งขันยังคงมีได้อยู่ แต่คงต้องเป็นเรื่องการสอบแข่งขันทางคุณธรรมและจริยธรรม การช่วยเหลือผู้อื่นและมีสำนึกความรักชาติมากกว่าการสอบได้คะแนนสูงๆในวิชาต่างๆที่บางทีก็ไม่รู้ว่าเรียนจบไปจะได้ใช้หรือเปล่าด้วยซ้ำ ซึ่งหากกระบวนการทางความคิดเปิดเวทีสาธารณะมากขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในสังคม disrupt 3 ประเด็น : ดร.เสรี พงศ์พิศ (2565)
(1) การศึกษาในระบบ ที่มองเห็นมากว่าสิบปีแล้วว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัย “เกรดบี-ซี” ลดลง ขณะที่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย “เกรดเอ” ยังเท่าเดิม เพราะเด็กแห่กันไปสมัครและเข้าได้ง่ายขึ้น ไม่อยากเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ราชมงคล อาชีวะ ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนคงอาการหนักพอกัน สาเหตุที่นักศึกษาเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาน้อยลง นอกจากประชากรเกิดใหม่ที่ลดลง ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ หนี้สินครัวเรือน แม้มีกองทุนให้กู้ยืม แต่เมื่อเรียนแล้วหางานทำไม่ได้ ก็ไม่มีแรงจูงใจให้ไปเรียนเพื่อเอาปริญญามาแขวนข้างฝาดูเล่น มีสถาบันอุดมศึกษาเอกชนบางแห่งที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ได้เงิน ได้ความรู้ ได้งานทำ แล้วทำไมสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทำเช่นนั้นไม่ได้ ไม่ใช่ปัญหางบประมาณ แต่ปัญหาของระบบคิด หรือ mindset ที่ทำให้อยู่ในโซนสบาย ไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก
(2) การศึกษานอกระบบ มีผู้ใหญ่กว่า 10 ล้านคนในวัยแรงงานที่ต้องการ “การศึกษา” ในแบบที่เรียนแล้วทำให้ประกอบอาชีพเก่าดีขึ้น หรือริเริ่มงานใหม่ได้ แล้วทำไมจึงคิดว่า “กศน.” เท่านั้นควรดูแลการศึกษานอกระบบ ทั้งๆ ที่สถาบันอุดมศึกษา 200 แห่งสามารถจัดหลักสูตรระยะสั้นยาวเพื่อคนเหล่านี้ได้ ประเทศไทย ไม่เห็นมีพรรคการเมืองไหนกล้าหาญพอที่จะประกาศ “ปฏิวัติ” การศึกษา พูดแค่คำว่าปฏิรูป แต่ก็ไม่ได้เห็นหน้าเห็นหลังอะไร นักการเมืองมองเห็นกระทรวงนี้เป็นเกรดบี เกรดซี กระทรวงยังใช้อำนาจ “สั่งการ” มากกว่า “ส่งเสริม” นักการเมืองยังหาเสียงแบบประชานิยม
(3) การศึกษาบูรณาการกับการพัฒนาประเทศ จะทำได้ก็ต่อเมื่อคิดแบบบูรณาการเท่านั้น ไม่ใช่แยกส่วน ทอนกำลังตัวเอง แม้มีคณะกรรมการมากมาย แต่ละกระทรวงส่งคนมาพบกันในที่ประชุม กลับไปก็ตัวใครตัวมันเหมือนเดิม แม้แต่กรมต่างๆ ในกระทรวงเดียวกันยังสร้างกำแพงมากกว่าสะพาน การศึกษาไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบ ถ้าสัมพันธ์กับชีวิต ด้วยกลไก แพลตฟอร์มและระบบเครือข่าย ที่เชื่อมโยงกันทุกด้าน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ก็จะได้การเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ ที่มีฐานความรู้ ฐานกำลังคนที่มีทักษะในการทำงานจริง การปฏิวัติการศึกษาต้องมาจาก “ข้างใน” และ “ข้างล่าง” ทั้งระบบการศึกษาภายในสถาบัน และต้องไม่ละเลยการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ มีความรู้และคุณธรรม ให้ได้เรียนไม่เพียงแต่วิชาทำมาหากิน แต่วิชาการจัดการชีวิต พัฒนาจิตใจ ไม่ละเลยวิชามนุษยศาสตร์ ให้ได้เรียนศิลปะ ดนตรี กีฬา ภาษา วัฒนธรรม ขาด “มนุษยศาสตร์” คนจะกลายเป็นเพียง “สัตว์เศรษฐกิจ” ที่มีแต่จะครอบงำทำกำไรเอาเปรียบคนที่ด้อยกว่า อ่อนแอกว่า เหมือนที่สังคมเป็นอยู่ทุกวันนี้ในทุกระดับ ในประเทศและระหว่างประเทศ ปฏิวัติการศึกษาให้เกิดผลต้องมาจาก “ข้างล่าง” ขาดชุมชนเข้มแข็งด้วยการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ สังคมก็ขาดฐานรากที่มั่นคง
ข่าวประเทศจีน เกาหลีใต้ จะปรับปรุงระบบการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ของไทยราวปี 2519 (47 ปี) เป็นต้นมาก็เปลี่ยนมาหลายรอบแล้ว มีดีมีเสียจุดใด มีการปิดกั้นโอกาส หรือไม่ เหล่ากูรูผู้กำหนดชี้นำสังคมทั้งหลาย คงหนักใจ เพราะปี 2565 ประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” (Aged Society) แล้ว โดยจะมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2576 จะเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (Super-Aged Society) คือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ถามว่าไทยพร้อมหรือยังกับการปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับสังคมใหม่