คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ / ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย
แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯกำลังเกิดวิกฤติมีปัญหาขาดดุลไปทั่วทุกหัวระแหง สืบเนื่องมาจากรายรับของรัฐมีน้อยกว่ารายจ่าย
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2023 ปรากฏออกมาว่า “หนี้สาธารณะ” (Public Debt) ของสหรัฐอเมริกาพุ่งขึ้นแตะ 33 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นเครื่องเตือนใจถึงเส้นทางการคลังที่เกิดการสั่นคลอนอย่างค่อนข้างชัดเจน!!!
โดยตัวเลขของหนี้สาธารณะกว่า 33 ล้านล้านดอลลาร์มีสูงกว่าค่าจีดีพีของประเทศกว่า 130 เท่า ทำให้ขณะนี้สหรัฐฯอยู่ในอันดับต้นๆของรายชื่อประเทศที่มีภาระหนี้สินหนักที่สุด
และแทบไม่น่าเชื่ออีกเช่นกันว่า ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯจำต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินกู้ถึงวันละ 1.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อคิดโดยเฉลี่ยแล้วปรากฏว่า คนอเมริกันเป็นหนี้แบบไม่รู้ตัวตกคนละ 99,020 ดอลลาร์เลยทีเดียว
ทั้งนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่คนทั่วไปมักจะได้ยินกันว่า “สหรัฐฯกำลังจะล้มละลาย” แต่แท้ที่จริงแล้วสถานะการเงินของสหรัฐอเมริกาค่อนข้างแข็งแกร่ง เมื่อพิจารณาจากมูลค่าโดยรวมของสินทรัพย์ทั้งหมดที่สหรัฐอเมริกาถือครอง!!!
เป็นที่น่าสังเกตว่าที่ผ่านมารัฐบาลของสหรัฐอเมริกามีหนี้สาธารณะมาโดยตลอด ยกเว้นก็แต่เพียงในยุคสมัยของ “อดีตประธานาธิบดี แอนดรูว์ แจ็กสัน” ที่สามารถจ่ายหนี้สาธารณะได้อย่างหมดสิ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม ปีค.ศ.1835 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ครั้งเดียวและครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
โดยขณะนี้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าหนี้ผู้ถือครองหนี้สาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯรายใหญ่ที่สุดในโลก ณ เดือนมกราคม 2023 ปรากฏว่าสหรัฐฯเป็นหนี้ญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์
ส่วนจีนอยู่ในอันดับที่ 2 ที่เป็นผู้ถือครองหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ โดยมีสหราชอาณาจักรอยู่ที่อันดับ 3 เบลเยียมอันดับ 4 และ ลักเซมเบิร์กเป็นเจ้าหนี้ในอันดับที่ 5
ทั้งนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นความท้าทายทางด้านการเงินของสหรัฐฯให้เกิดวิกฤติขึ้นอย่างรวดเร็ว
อนึ่งกฎหมายปฏิรูประบบภาษีของ “อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2017 ที่พยายามผลักดันให้มีการลดภาษีหลายล้านล้านดอลลาร์ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทุนหนามีความร่ำรวย
และจากข้อวิเคราะห์ของสองนักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีและความมั่งคั่ง แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองเบอร์คลี นั่นก็คือ “การ์เบียล ซุคมัน” (Gabriel Zucman)และ “เอ็มมานูแอล เซอส”( Emmanuel Saez) เมื่อปีค.ศ. 2018 ที่ผ่านมาว่า “อดีตประธานาธิบดีทรัมป์เอื้ออำนวยต่อกลุ่มมหาเศรษฐีถึง 400 ครอบครัว ให้จ่ายภาษีแค่เพียง 23% จากที่เคยจ่ายที่ 35%”
และเมื่อต้นปี 2019 ปรากฏว่าจำนวนหนี้สาธารณะของสหรัฐฯสูงเพิ่มขึ้น 22 ล้านล้านดอลลาร์ โดยครั้งนั้นอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ออกมากล่าวยอมรับว่า “สหรัฐฯกำลังประสบและกำลังเผชิญกับวิกฤติหนี้ระดับชาติ”
แต่กลับปรากฏว่าเมื่อปีค.ศ. 2018 มีบริษัทยักษ์ใหญ่ถึง 91 แห่งมิต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าภาษีเลย
อย่างไรก็ตามการที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ออกกฎหมายเอื้ออำนวยผลประโยชน์ลดภาษีให้กับธุรกิจของผู้มีอันจะกินนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บรรดามหาเศรษฐีเพิ่มความมั่งคั่งแบบเงินต่อเงินได้อย่างสำราญบานใจ!!!
และจากการวิเคราะห์ของ Institute for Public Policy Studies เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2022 เปิดเผยออกมาว่า “การปฏิรูประบบภาษีของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ถือเป็นการช่วยเหลือโอบอุ้มกลุ่มมหาเศรษฐีแต่เพียงกลุ่มเดียว โดยมิเหลียวแลกลุ่มชนชั้นแรงงานที่ต้องทนทุกข์ทรมานตรากตรำทำงานอย่างหนักเลยแม้แต่น้อย”
นอกจากนั้นแล้วนโยบายของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์เกี่ยวกับการบริหารจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นไปแบบล่าช้าไม่ทันการ
จากรายงานขององค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ProPublica ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2021 ว่า “ช่วงสี่ปีในการบริหารสหรัฐฯของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์นั้น เขาได้สร้างหนี้สาธารณะเอาไว้กว่า 7.8 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
ที่ผ่านมาในอดีตจะเห็นได้ว่าทุกๆปีสหรัฐอเมริกาจะส่งเงินจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์กระจายช่วยเหลือไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงเป็นมหาอำนาจและเพื่อมนุษยธรรม
และเมื่อปีค.ศ. 2022 เนื่องจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถูกแรงผลักดันในการต่อสู้ทั้งทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านการตอบสนองต่อการระบาดขนาดใหญ่ของโควิด-19 และด้านการรุกรานของรัสเซียในสงคามยูเครน
นับตั้งแต่สงครามยูเครนเริ่มขึ้นปรากฏว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ส่งความช่วยเหลือให้แก่ยูเครนไปแล้วมากกว่า 75,000 ล้านดอลลาร์ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนทั้งทางด้านมนุษยธรรม ด้านการเงิน และด้านการทหาร จนกลายเป็นประเด็นร้อนจนแทบระเบิดถกเถียงกันอย่างหนักในสหรัฐอเมริกา
นอกเหนือจากนั้นดูเหมือนว่าขณะนี้ สภาคองเกรสก็กำลังเผชิญกับปัญหาการเพิ่มเพดานหนี้ที่ได้กลายเป็นชนวนทำให้เกิดการแตกแยกกันอย่างหนักในสภาคองเกรสที่โยงใยเกี่ยวพันไปถึงการระดมทุนช่วยเหลือแก่ยูเครน สืบเนื่องมาจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน เอ่ยปากให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกอนุมัติเงินช่วยเหลือส่งไปให้ประเทสยูเครน!!!
ซึ่งกรณีเกี่ยวกับสงครามยูเครนนั้น ถึงแม้ว่า “ประธานสภาฯเควิน แม็คคาธีร์” ยินดีที่จะให้การสนับสนุนนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดนก็ตาม แต่กลับปรากฏว่านักการเมืองฝ่ายขวาตกขอบในสภาผู้แทนฯกลับไม่เห็นด้วยพยายามต่อต้านแบบยอมเอาหัวพุ่งชนฝา จนถึงขนาดวางแผนจ้องจะปลดประธานสภาฯออกจากตำแหน่งด้วยซ้ำไป
โดยเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้สภาคองเกรสได้เผชิญกับการผ่านร่างกฎหมายการใช้จ่ายในนาทีสุดท้ายแบบเส้นยาแดงผ่าแปด โดยวุฒิสภาได้อนุมัติผ่านร่างกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้รัฐบาลต้องปิดตัวลง (Shutdown) เพราะอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโนที่ส่งผลเลวร้ายต่อประชาชนและต่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา โดยวุฒิสภาลงมติในเวลา 00.01 น. ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ถือเป็นการต่อลมหายใจอนุญาตให้รัฐบาลอยู่ทำงานต่อไปได้อีก 45 วันแล้วค่อยมาเจรจาว่ากันอีกที
อนึ่งโครงการดูแลสุขภาพของสหรัฐฯนับเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯอีกโครงการหนึ่ง โดยมีค่าใช้จ่ายมากเกือบ 30% ของงบประมาณทั้งหมดของรัฐบาลกลาง และนับวันจะเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะขณะนี้สหรัฐฯกำลังเผชิญกับประชากรที่กำลังย่างเข้าสู่วัยชรา สืบเนื่องจากประชากรรุ่นเบบี้บูมโดยเฉลี่ยแล้วจะมีอายุราวๆ 65 ปีที่เพิ่มขึ้นหนึ่งหมื่นคนในทุกๆวัน
และจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่พำนักอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกามานานกว่าสี่สิบปี ผมเล็งเห็นเป็นอย่างดีว่า รัฐบาลสหรัฐฯคำนึงถึงการให้บริการด้านสุขภาพต่อผู้สูงวัยมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการนัดหมายหมอประจำตัว ด้านการติดตามผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริการนัดหมอล่วงหน้าทางโรงพยาบาลล้วนแล้วแต่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยที่คนไข้ไม่ต้องไปแออัดเป็นปลากระป๋อง และโรงพยาบาลยังจัดหาคนแปลให้กับผู้ที่มีปัญหาด้านภาษาการสื่อสารอีกด้วย แถมยังจ่ายยาที่มีคุณภาพแบบไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายสตางค์หรือหากต้องจ่ายก็จ่ายแค่เพียงน้อยนิด และรัฐบาลยังร่วมมือกับธุรกิจฟิตเนสออกกำลังกายให้บริการกับผู้สูงวัยแบบฟรีๆอีกด้วย!!!
กล่าวโดยสรุปทั้งนี้และทั้งนั้นเมื่อดูจากแนวโน้มเรื่องของหนี้สินสาธารณะของรัฐบาลสหรัฐฯแล้ว โอกาสที่หนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนอเมริกัน ซึ่งเฉลี่ยแล้วตกประมาณคนละเกือบ 13,000 ดอลลาร์ต่อคนในแต่ละปี ดังนั้นในที่สุดทางออกเพื่อความอยู่รอดคงจะอยู่ที่รัฐบาลสหรัฐฯอาจจะต้องเพิ่มภาษี และสภาคองเกรสอาจจะต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดประหยัดงบใช้จ่าย ซึ่งหากจำเป็นจริงๆคนอเมริกันคงจะต้องทำใจให้ความร่วมมือเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติประเทศถังแตกไปให้ได้ละครับ