สจล.เผยควรใช้เทคโนโลยี เอ.ไอ.เชื่อมต่อเครือข่ายกล้อง CCTV พัฒนาระบบ SMS เพื่อแจ้งข่าวสารและเหตุฉุกเฉิน พร้อม 6 ข้อเสนอแนะในการลดปัญหาการก่อเหตุร้ายในที่สาธารณะ 

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)เปิดเผยว่า กรุงเทพฯ เป็นมหานครเต็มไปด้วยชุมชน กิจกรรมความเคลื่อนไหว อาคาร-ศูนย์การค้า ทั้งยังเป็นจุดหมายยอดนิยมในการท่องเที่ยวของนานาชาติ ซึ่งปีนี้ไทยตั้งเป้าหมาย 25 ล้านคน ความปลอดภัยในที่สาธารณะ (Public Safety) จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อประชาชน สังคม และเศรษฐกิจ ปัจจุบันหลายเทคโนโลยีที่บ้านเรามีและสามารถนำมาใช้ได้เลย ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยประมวลผลข้อมูลจากแหล่งต่างๆเช่น โซเชียลมีเดียและเซ็นเซอร์ ในเวลาเรียลไทม์เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจและการประสานงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เชื่อมต่อเพื่อเพิ่มพลังในการวิเคราะห์ข้อมูลจากเครือข่ายกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่มีอยู่กว่า 5 หมื่นตัวในกรุงเทพฯ เพื่อช่วยในการควบคุมสถานการณ์และให้ข้อมูลสำหรับการประเมินสถานการณ์เช่น ภาพพฤติกรรมของคนกำลังวิ่งหนีท่ามกลางคนเดิน AI สามารถช่วยประมวลผลและสังเกตความผิดปกติ  Smart City สามารถนำภาพในเมืองมาประเมินได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเห็นคนวิ่งกรูไปทิศหนึ่งทิศใด ก็สันนิษฐานได้ว่าอาจเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติในทิศทางตรงข้าม  คนวิ่งหนีอะไร ทั้งนี้ สจล.ได้พัฒนาใช้ระบบ AI เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลจากกล้อง CCTV ที่ฉะเชิงเทรา ทำให้ตำรวจตามจับตัวคนร้ายได้สำเร็จทันท่วงที 

             

ขณะที่เทคโนโลยี 4G - 5G ในประเทศไทยก้าวหน้ามีประสิทธิภาพสูง เราควรพัฒนาระบบ SMS เพื่อแจ้งข่าวสารและเหตุฉุกเฉิน ซึ่งใช้ได้กับโทรศัพท์ทุกระดับ SMS เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อนและเข้าถึงคนได้ทุกวัย อย่างในเกาหลีใต้ ระบบ SMS จะรู้ตำแหน่ง GPS, GEO Trackingช่วยตักเตือนเรื่องกฎเกณฑ์แก่นักท่องเที่ยว, SMS Emergency Alert ทักทายประชาชนทุกเช้า วันนี้มีเหตุการณ์สำคัญอะไรในบ้านเรา หากมีเหตุร้าย สามารถแจ้งเตือนไปยังคนที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุอันตรายได้ ช่วยลดความตื่นตระหนก ชุลมุนของฝูงชน

             

โดยเทคโนโลยีระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินยังมีหลายรูปแบบ เช่น  Wireless Emergency Alerts (WEA) หน่วยงานรัฐบาลสามารถส่งการแจ้งเตือนฉุกเฉินแบบเหมือนข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือที่เข้ากันได้ในพื้นที่เฉพาะ โดยใช้เทคโนโลยี Geofencing ซึ่งสามารถเห็นได้ว่าอุปกรณ์โทรศัพท์ของเรากำลังอยู่ที่ตำแหน่งไหน, ระบบการแจ้งเตือนที่สามารถเห็นได้จากป้ายสาธารณะทั่วไปเช่น ในสหรัฐอเมริกา จะมีระบบ AMBER Alert นำข้อความแจ้งเตือนฉุกเฉินไปขึ้นยังป้ายตามทางหลวง/ทางด่วน หรือป้ายสาธารณะที่เป็น Digital Signage ทำให้ง่ายต่อการติดตามคนร้าย และแนะนำถึงเส้นทางหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปัญหา นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันแจ้งเตือนฉุกเฉิน เช่น FEMA แอปพลิเคชันจัดการฉุกเฉินระดับท้องถิ่นสามารถให้ข้อมูลและข้อความแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ในระหว่างมีภัยฉุกเฉินได้  แอปพลิเคชัน Zello เพื่อการสื่อสารฉุกเฉินทำให้สมาร์ทโฟนเปลี่ยนเป็นวอล์กี้-ทอล์คกี้ ที่ช่วยให้ผู้ใช้สื่อสารกันได้แม้ระบบโทรศัพท์มือถือจะเกิดการใช้งานมากเกินไปหรือล่มสลายก็ตาม

ทั้งนี้ในการป้องกัน-แก้ไขเหตุร้าย สจล.มีข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการเจ้าของอาคารและห้างสรรพสินค้า ควรออกแบบพื้นที่บังเกอร์ที่แข็งแรง หรือจุดซ่อนตัว และให้มีเส้นทางลำเลียงคนออกจากห้าง ดังเช่นในต่างประเทศ,ใช้ซอฟท์แวร์ AI เชื่อมระบบเครือข่ายกล้องวงจรปิด (CCTV)เช่น บริเวณทางเข้าและออก พื้นที่จอดรถ เพื่อเฝ้าระมัดระวัง บันทึกข้อมูล และวิเคราะห์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น,ฝึกอบรมป้องกันภัยไฟไหม้และการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆอย่างถูกต้องตามหลักสากล และทบทวนแผนการและความพร้อมทุกด้าน

สำหรับ 6 ข้อเสนอแนะในการลดปัญหาการก่อเหตุร้ายในที่สาธารณะ ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมช่วยกันแก้ไขเพื่อเสริมสร้างสังคมไทยที่อบอุ่นน่าอยู่และปลอดภัย มีดังนี้ 1.ด้านสุขภาพจิต เริ่มจากที่บ้าน ครอบครัวต้องมีความรักความเข้าใจ เกื้อหนุนกำลังใจกัน ควรส่งเสริมให้มีบริการบำบัดทางด้านจิตวิทยาที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง 2.ด้านการครอบครองอาวุธปืน จากรายงานของเว็บไซต์ World Popular Review คนไทยมีอาวุธปืนถึง 10.3 ล้านกระบอก ติดอันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับ 20 ของโลก รัฐบาลควรหาทางลดการครอบครองและสกัดกั้นการซื้อขายอาวุธทางออนไลน์ ผู้เป็นเจ้าของปืนต้องจัดเก็บในที่ปลอดภัยไม่ให้ลูกหลานเข้าถึงได้ 3.ป้องกันเยาวชนจากเกมที่กระตุ้นการใช้ความรุนแรง ซึ่งอาจเกิดการเลียนแบบเอาอย่าง 4.ให้ความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพระบบความปลอดภัยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี การใช้ระบบการแจ้งเตือนฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือ และการใช้ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันที่ช่วยในการตรวจสอบและรายงานปัญหาในเวลาเรียลไทม์ การติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) และระบบการตรวจจับควันและแก๊สพิษ

5.สร้างพลังความร่วมมือกับชุมชนในการรักษาความปลอดภัยของชุมชนและเมือง ซึ่งความสัมพันธ์อันดีกับคนในพื้นที่จะช่วยรายงานปัญหาและการเห็นสิ่งผิดปกติต่อเจ้าหน้าที่ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น 6.ชุมชน อาคาร ควรมีการซักซ้อม 3 วิธีการเอาตัวรอด เมื่อต้องเผชิญเหตุร้ายกราดยิง หรือคลุ้มคลั่งได้แก่ หนีจากจุดอันตรายไปยังพื้นที่ปลอดภัย,ซ่อน หากหนีไม่ได้ ให้หาสถานที่ปลอดภัยหลบซ่อนตัว และสู้อย่างปลอดภัยซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย