สัปดาห์พระเครื่อง / ราม  วัชรประดิษฐ์

 พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งมีทั้งหมด 4 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ฐานแซม และ พิมพ์เกศบัวตูม

ในวงการผู้นิยมสะสมพระเครื่องส่วนใหญ่ ถ้าจะมีการเปรียบเทียบความแตกต่างของพิมพ์ทรงที่มีความใกล้เคียงกันแลัว มักจะเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ กับ พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม พิมพ์ใหญ่

แต่ถ้าพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะเห็นว่าในพิมพ์ทั้ง 4 พิมพ์ ของ พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามเองนั้น พิมพ์ที่มีความเหมือนกันมากจนต้องมีการพิจารณาตำหนิต่างๆ อย่างรอบคอบและละเอียดมากๆ ก็คือ "พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่" และ "พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ทรงเจดีย์" เนื่องจาก พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามทุกพิมพ์ จำลองศิลปะมาจากพระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม อันเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย พิมพ์สมาธิ “พิมพ์ทรงเจดีย์” ก็เช่นกัน แต่ศิลปะองค์พระจะเล็กลง ดูจากเส้นรอบขององค์พระไล่จากฐานที่ 1 ขึ้นไปจดปลายเกศจะเป็นเส้นอ่อนช้อยเหมือนสัณฐานของศิลปะพระพุทธเจดีย์โดยรอบ นักนิยมพระจึงเรียกขานว่าเป็น "พิมพ์ทรงเจดีย์" มาแต่โบราณ

พิมพ์ใหญ่และพิมพ์ทรงเจดีย์

พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์ทรงเจดีย์นั้น เนื่องจากเป็นพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามเช่นเดียวกัน ดังนั้น เนื้อหามวลสารและกรรมวิธีในการสร้างจึงเป็นลักษณะเดียวกัน จุดตำหนิหรือพุทธลักษณะเฉพาะที่เหมือนกัน คือ เม็ดพระธาตุ รอยรูพรุนเข็ม และ รอยปูไต่

แนวทางการพิจารณาความแตกต่างของจุดตำหนิแม่พิมพ์ ระหว่าง พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่  และ พิมพ์ทรงเจดีย์ มีดังต่อไปนี้

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ “องค์ขุนศรี”

- เส้นขอบแม่พิมพ์ด้านซ้ายขององค์พระ ของ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะลากยาวลงมาจดกับขอบซุ้มเรือนแก้วตรงมุมล่างพอดี ต่างจาก พิมพ์ใหญ่ ซึ่งจะมาจดกับขอบซุ้มเรือนแก้วตรงกลางของแขนองค์พระ

- พระเกศ ของ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะมีรอยขยักเหมือนมีพวงมาลัยครอบไว้กลางพระเกศ ต่างจาก พิมพ์ใหญ่

- บริเวณหัวไหล่ทั้งซ้ายและขวาขององค์พระ ระหว่างหัวไหล่ถึงใต้รักแร้ทั้งสองข้างของ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะเท่าๆ กัน ต่างกับ พิมพ์ใหญ่ เนื้อที่ระหว่างหัวไหล่กับรักแร้ด้านขวาขององค์พระจะกว้างกว่าด้านซ้าย  

- เส้นซุ้มครอบแก้ว ของ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะเล็กกว่าพิมพ์ใหญ่

- หัวฐานชั้นที่ 2 ด้านขวามือขององค์พระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะมีลักษณะเรียวแหลม ซึ่งคนโบราณเรียกว่า "หัวเรือเอี้ยมจุ๊น"

- พระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ที่ 2 จะมีเส้นผ้าอังสะพาดจากหัวไหล่ลงมาใต้รักแร้อย่างเห็นได้ชัด ส่วนพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ จะไม่ปรากฏเส้นผ้าอังสะ

พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ทรงเจดีย์หน้า-หลัง

(สำหรับเส้นผ้าอังสะนั้น ในกรณีที่พระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์องค์ใดกดพิมพ์ไม่ชัด ก็อาจจะไม่ปรากฏให้เห็นเป็นตำหนิได้ แต่สามารถใช้ตำหนิแม่พิมพ์ตำแหน่งอื่นๆ เป็นที่สังเกตได้เหมือนเดิม)

- แขนข้างขวาด้านใน ของ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะมีเนื้อพอกอยู่เป็นส่วนเกิน ซึ่งเป็นตำหนิของแม่พิมพ์ที่เป็นส่วนลึกสุด ถึงแม้องค์ใดจะผ่านการใช้จนสึกหรือกดพิมพ์ไม่ลึกเพียงพอ แต่เนื้อพอกส่วนเกินของซอกแขนนี้ก็คงจะยังปรากฏให้เห็นชัดเจนอยู่

- ข้อศอกซ้ายด้านนอก ของ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะไม่มีเส้นชายจีวรแล่นมายังเข่าเหมือน พิมพ์ใหญ่

- มุมหัวฐานด้านขวา ของ พิมพ์ทรงเจดีย์ชั้นล่างสุด จะมีเส้นรอยแตกของแม่พิมพ์วิ่งแล่นจดมุมซุ้ม

- สัดส่วนของพระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะเล็กกว่า  พิมพ์ใหญ่

- พิมพ์ด้านหลังของพระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ จะไม่เหมือนพิมพ์ด้านหลังของพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ ตามภาษาวงการพระเรียกว่า "พิมพ์หลังทื่อ" และจะเหมือนกันหมดทุกพิมพ์ คือ ขอบข้างขององค์พระทั้งสี่ด้านจะปรากฏรอยกะเทาะของการตอกตัดครูดกับเนื้อพระ และปรากฏร่องรอยปริแยกของเนื้อพระที่เรียกว่า "รอยปูไต่" อันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของพระสมเด็จวัดระฆังฯ

ที่สำคัญที่สุดคือ ผิวขององค์พระ ตลอดจนภาพรวมของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ทรงเจดีย์ ต้องใช้ความคุ้นเคยอย่างที่เคยได้กล่าวไว้ว่าคนเราจำหน้าตาได้ก่อน ฉะนั้นต้องพิจารณาสังเกตภาพรวมให้มากๆ ครับ

เปรียบเทียบ พิมพ์ที่ 1

พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ทรงเจดีย์ ยังสามารถแยกพิมพ์ได้ทั้งหมด 5 พิมพ์ด้วยกัน  คือ พิมพ์ที่ 1, 2, 3, 4 และ 5 พระสมเด็จ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ที่ 1 จะมีขนาดค่อนข้างล่ำสันใกล้เคียงกับพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่มาก แต่หาดูยากมากจนหลายๆ คนไม่เคยเห็น ส่วน พิมพ์ที่ 2 เป็นพิมพ์ที่ปรากฏมากที่สุดที่เห็นกันอยู่ ณ ปัจจุบัน รองลงมาก็เป็นพิมพ์ที่ 5 หรือทั่วไปเรียกว่า "พิมพ์เล็ก" สำหรับพิมพ์ที่ 3 และพิมพ์ที่ 4 ก็หาดูค่อนข้างยากเช่นกันครับผม

เปรียบเทียบ พิมพ์ที่ 2