ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต

“กำลังใจของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิต..มันคือความหมายสูงสุดในการดำรงอยู่อย่างมีทิศทางและมีคุณค่า..หลายๆขณะที่ชีวิตของเราต้องซวดเซด้วยปัจจัยอัปลักษณ์นานาในโลกของวันนี้..กำลังใจจากใครสักคนคือเครื่องช่วยยึดพยุงชีวิตให้ฟื้นกลับสู่ภาวะอันสงบงามและมั่นคงได้อีกครั้งและอีกครั้ง นั่นคืออุบัติการณ์แห่งเรื่องราว ที่สามารถแปรค่าเป็นของขวัญอันล้ำค่าของชีวิตได้..ถ้าเราคิดจะหยั่งรู้เพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงมัน..”

นัย...แห่งสาระเบื้องต้นคือ..ความประทับใจอันชวนใคร่ครวญที่ได้รับจากหนังสือแห่งความคิดอันแหลมคมและโอบประคองที่ว่า.. “ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนของขวัญ” ..ดั่งเช่น.. “การยอมรับว่าอ่อนแอ..คือความเข้มแข็ง”

สำนึกคิดเหล่านี้เป็นของ “โซจองมิน” ที่ถือเป็นประกายแห่งข้อตระหนักอันวิจิตรบรรจง ของชีวิตหนึ่งๆในเชิงประสบการณ์นิยม..ผ่านกวีนิพนธ์คำสอนสั้นๆ..บทต่อบท..อย่างจริงจังด้วยเจตจำนงอันสัมผัสได้ถึงความบริสุทธิ์ใจ..แท้จริง..!

ประเด็นของหนังสือทั้งหมดอยู่ที่ประสบการณ์แห่งการพบเจอสิ่งต่างๆในชีวิต..ที่มีสภาวการณ์ที่ทั้งดีและเลว..ประสบการณ์ที่พบเจอนั้น คือสิ่งที่ “โซจองมิน” ได้บันทึกไว้ แล้วนำมาตีความ สร้างสรรค์เป็นประพันธกรรมแห่งข้อคิดอันป็นประโยชน์สุข..ต่อไป

หนังสือแบ่งออกเป็น 3 บทตอนอย่างน่าสนใจ..ประกอบด้วย..

1.ล้มแล้วเรียนรู้ที่จะลุก

2.ความสำเร็จของชีวิตคือการวิ่งไปจนสุดทาง

และ..3.ความรักอยู่ในที่ซึ่งมิอาจรักได้..

บทตอนทั้งสาม มีความงามแห่งความคิดฝังอยู่..เป็นอารมณ์แห่งสัจที่ลึกซึ้งและกินใจ..ส่งผลกระทบต่อจิตวิญญาณแห่งตัวตนที่ประจักษ์แจ้ง..มโนสำนึกเช่นนี้คือพลังภายในที่เจิดจ้า..กระทั่งกลายเป็นแรงขับของชีวิตต่อชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด..

“พอทุกอย่างผ่านพ้นไป..ความทุกข์คือของขวัญที่แท้จริง”

ข้อคิดในสนามแห่งความย้อนแย้งทางความรู้สึกเช่นนี้..แม้จะฟังดูอ่อนโยนและเเล้วเบา..แต่ก็เฆี่ยนตีเนื้อแท้แห่งชะตากรรมของเราได้เจ็บปวดยิ่งนัก..มันประทับรอยแผลอันตราตรึงให้ตระหนักในวิถีแห่งสัจของเราอย่างเน้นย้ำ..

ชีวิตบาดเจ็บได้เสมอ..แต่ไม่นานนักเราก็จะกลืนกินรอยบาดเจ็บนั้นจนชาชิน..และนั่นย่อมคือประสบการณ์อันสูงค่าเท่าทีชีวิตจะพึงมี..

“ความคิด เปลี่ยนแปลงตัวเรา” ..อำนาจของความคิดสามารถเคลื่อนย้ายตัวตนแห่งชีวิตของตนเสมอ..จากเข้มแข็งลงไปสู่อ่อนแอ..จากอ่อนแอขึ้นไปสู่ความเข้มแข็ง..หรือแม้กระทั่งจากอ่อนแอจมปลักอยู่กับความอ่อนแอ หรือบางโอกาสความเเข็งก็ก่อให้เกิดพลังที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น..นั่นคืออิทธิพลแห่งอำนาจของความคิด..ที่คนเราต้องรับรู้และอยู่กับมันอย่างระมัดระวังและเข้าใจ..เพื่อพัฒนาการในการจัดการกเปลี่ยนแปลงชีวิตต่อไป..

“คนที่ต้องการบางสิ่งอย่างแน่วแน่..จะไม่หาข้ออ้างแต่จะหาหนทาง”

เพราะหนทางที่จะสร้างคุณประโยชน์ต่อชีวิตนั้นหายาก และมีความยากลำบากยิ่งที่จะค้นพบ..มันต้องอาศัยทความวิริยะต่อทั้งความคิดและการกระทำที่ตั้งใจและจดจ่อต่อการค้นหา..ในข้อปฏิบัตินี้..สิ่งที่มีค่าในชีวิตจึงมีความหมายที่ยิ่งใหญ่ด้วยความหมายแห่งความยิ่งใหญ่ที่ผู้มุ่งมั่นค้นหา...ได้มอบชีวิตให้แก่มัน..

“ปัญหาอาจไม่ได้มาจากคนรอบข้าง แต่อาจได้มาจากตัวของเราเอง”

นี่เป็นข้อคิดที่แทงใจดำ..เรามักจะกล่าวโทษมูลเหตุและต้นเหตุของปัญหาว่ามาจากที่อื่นหรือคนอื่น..โดยไม่คิดถึงตัวเองเลย..ทั้งๆที่ตัวเราทุกคนคือผู้มีโอกาสก่ออุบัติการณ์ทางปัญหา..เนื่องเพราะมนุษย์คือผู้สะสมกิเลส..และกิเลสทั้งหมดทั้งมวลที่สุมอยู่ในใจของมนุษย์นี่เอง..คือไฟปะทุอันเเรงกล้าที่คอยเผาผลาญความดีงามของมนุษย์จนหมดสิ้น..

“ถ้าผิดพลาดก็ลุกขึ้นมาใหม่..ถ้าพลาดพลั้ง ก็แค่พักให้หายดี...ถ้าล้มเหลว ก็แค่เริ่มต้นอีกครั้ง...ชีวิตยังไม่จบ..ตั้งต้นใหม่ได้เสมอ”

..การตั้งต้นใหม่ในชีวิต..คือความมุ่งหวังอันสูงสุดของการเยียวยาบาดแผลแห่งตัวตน..มันคือโอกาสอันสำคัญในการให้อภัยต่อข้อผิดพลาด..โดยเลี่ยงจากการซ้ำเติมเพื่อเหยียบย่ำตัว..ทรรศนะต่อการให้โอกาสเช่นนี้..ทำให้ชีวิตคลายเคลื่อนและเต็มไปด้วยความหวังแห่งการกระทำ..การให้โอกาสต่อการกระทำที่พลาดผิด..ย่อมเป็นสายทางที่เติบใหญ่ต่อการดำรงอยู่..มันคือจังหวะชีวิตของการให้อภัยตัวตนที่เป็นบทเรียนอันสมบูรณ์..

“การพูดน้อยลง หมายถึงการเติบโตขึ้น..การพูดมากขึ้น หมายถึงการหยุดเรียนรู้”..

นี่คือข้อคิดที่น่าคิด..เรามักจะหลงตนและพะนออัตตา พร่ำพรรณนาแต่เรื่องราวอันเป็นวังวนเฉพาะของตนเอง โดยลืมมองออกไปเบื้องบน เหตุนี้ชีวทัศน์ของเราจึงถูกจำกัดด้วยตนเองอย่างมืดมน..ยิ่งพูดมากก็เหมือนการอวดอ้าง ที่หาค่ามิได้..การรู้น้ำหนักของโอกาสที่จะพูดจึงเป็นวาระสำคัญของชีวิตที่จักต้องฝึกหัดเพื่อควบคุมดุลยภาพแห่งชีวิตให้เเนบเนียนและลงตัว..เป็นที่น่าเชื่อถือและ เป็นที่เกรงใจต่อทุกคน

“วิจารณ์ขยะว่าน่ารังเกียจ แต่การกล่าวถึงไม่ได้ทำให้มันหายไป..ขยะจะหายไปก็ต่อเมื่อคนหยิบไปทิ้งเฉยๆ..”

นั่นหมายถึงว่า..อย่าปล่อยให้ความเป็นชีวิตต้องหมักหมมอยู่กับอาจมของกองขยะจากสรรพอวิชชานานา การจมปลักอยู่กับรอยด่างของตัวตนเช่นนี้จะทำให้เราวนเวียนอยู่แต่ความเศร้า..ไร้เรี่ยวแรงในสิ่งที่ดีงามเพื่อการอยู่รอด..ชีวิตต้องไม่เอาแต่การกล่าวโทษหรือวิพากษ์วิจารณ์..แต่ต้องเอาชนะมันด้วยภูมิปัญญาอันถ้วนถี่..เพียงแค่ปลดภาระจากเรื่องค้างใจนี้..ชีวิตก็จะพบกับศานติสุข

โดยส่วนตัว..ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ได้มอบโอกาสทางความคิดให้แก่เรา..มันคือหลักความคิดที่สั้นและกระชับ..เชื้อเชิญให้ก่อผัสสะในองค์ประกอบของวิจารณญาณ..ยิ่งอ่านยิ่งสัมผัสถึงแนวทางที่เป็นศิลปะแห่งการตีความ ก็ยิ่งจะซาบซึ้งถึงความประจักษ์ต่อเเรงเหวี่ยงซัดทางความคิด..ดูเหมือนว่าเราต่างผ่านโครงสร้างแห่งปัจจัยทางธรรมชาตินี้มา ปัจจัยที่จะรัก จะชัง หรือจะสงสัยใคร่ครวญว่าสิ่งใดคือสิ่งใด..หรือ.เหตุใดเป็นเหตุใด..

“ถ้ามี..คนลำบากเพิ่มขึ้น มีคนหงุดหงิดเพิ่มขึ้น..ปัญหาอาจไม่ได้มาจากผู้คนรอบข้าง แต่อาจมาจากตัวของเราเอง”

ที่สุดแล้ว..ผมมองเห็นข้อสรุปจากข้อคิดอันมากหลายของหนังสือเล่มนี้..ว่ามันได้ขุดลงไปในชีวิต..ขุดลงไปอย่างหยั่งลึกด้วยสัญชาตญาณอันเคยคุ้น..เราต่างอยู่ใกล้กับกิริยาอาการนี้..แต่อาจลืมสังเกต ตีความ หรือ วิพากษ์วิจารณ์ ..

“ไม่มีหนทางใดที่ทำให้เราฉลาดได้..โดยไม่ตระหนักว่าตัวเองคือคนโง่..ไม่มีหนทางใดที่จะเราค้นพบความถูกต้อง..นอกจากยอมรับว่าตัวเองทำผิดพลาด”..

ความอิ่มเต็มของชีวิตใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ..นอกเสียจากว่าเราจะลงลึกถึงการสัมผัสชีวิตอย่างแท้จริง..อาจจะด้วยความชัง ความรัก หรือปริศนาแห่งรหัสนัยแห่งการใช้ชีวิตใดๆก็ตาม..มันคือปริศนาที่รอการเฉลยอย่างหมดเปลือกจากวิถีของจิตวิญญาณที่โลดทะยานอย่างไม่หยุดยั้ง..แม้เมื่อใด..

“วิทยา จันทร์พันธ์” ถอดความข้อความแห่งใจสู่ใจของหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างประณีต..ในทุกช่วงตอน..เป็นการรับรู้ในรู้สึกต่อห้วงสำนึกอันเจิดกระจ่างของ “โซจองมิน”..

ยิ่งเพ่งพินิจในการอ่าน..บทตอนในแต่ละบทตอนของความคิดก็จะเปล่งเสียงทักทายตัวตนและหัวใจของเราอย่างก้องดังและไม่สิ้นสุด....ทุกสิ่งคือความหมาย..ทุกสิ่งคือสำนึก และ..ทุกสิ่งคือรากฐานเหนือความหยั่งรู้ของชีวิต..