"เศรษฐา" เผยปัญหาขัดแย้ง"ทักษิณ-เฉลิม" เป็นเรื่องภายในเพื่อไทย ยันไม่เกี่ยวข้อง ภูมิธรรมเตรียมนัดเฉลิมเคลียร์ใจ  ยันกก.ประชามติแก้รธน.ไม่ใช่ตรายาง สวนกลับ"ก้าวไกล"อย่าบีบรับข้อเสนอ  ขณะที่"ก้าวไกล" ชงร่างนิรโทษกรรมปมขัดแย้งทางการเมืองทุกสีเสื้อ ถอนฟืนจากกองไฟ ลุยคุยทุกสีเสื้อ

     ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) เมื่อวันที่ 5 ต.ค.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงกรณีปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทยระหว่าง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี กับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ว่า ตนไม่ทราบเรื่องเลยว่าท่านทะเลาะอะไรกัน และไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือมีการเข้าใจผิดอะไรกันหรือเปล่า ถือเป็นเรื่องของคนสองคนก็แล้วกัน ตนไม่ทราบประวัติศาสตร์ว่าเขาเป็นยังไง ให้เป็นเรื่องของพรรคที่เขาต้องจัดการกันเอง วันนี้ตนไม่ได้เข้าไปอยู่ในความขัดแย้งของแต่ละคนอาจจะมีการงอนกันบ้าง น้อยใจกันบ้าง
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า อาจเป็นเรื่องความไม่พอใจที่ไม่ได้ตำแหน่งในรัฐบาล นายเศรษฐา กล่าวว่า ไม่ทราบ หลายท่านที่เข้ามาทำงานการเมือง ก็มีประสงค์จะช่วยบ้านเมือง เราอยู่ตรงนี้บางท่านเป็นรัฐมนตรี บางท่านเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี บางท่านอยู่ในคณะกรรมการต่างๆ ก็มีหน้าที่ต่างๆ และการแต่งตั้งก็ยังไม่จบ จะทยอยมาเรื่อยๆ พยายามจะคัดสรรให้ดี และก็มีหลายพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องด้วย ก็คงค่อยๆ ทยอยออกมา
   
  เมื่อถามต่อว่า แสดงว่าเรื่องภายในพรรคก็ต้องแก้ปัญหากันภายใน นายเศรษฐา กล่าวว่า ทุกพรรค ทุกกลุ่ม ทุกเหล่าก็มีปัญหากันทั้งนั้น มีการพูดคุยกันดีกว่า พูดคุยกันด้วยความเข้าใจ เมื่อถามว่า ร.ต.อ.เฉลิม ระบุจะออกจากพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนคงไปบอกให้ใครพูดอะไรไม่ได้ ไม่ได้เกี่ยวกับตน แต่พูดโดยรวมว่ามีปัญหาก็เจรจากันด้วยถ้อยทีถ้อยอาศัย ใช้ภาษาที่ไม่ก้าวร้าว ตนยึดหลักที่พูดมาตลอด ก็ขอให้เป็นอย่างนั้น
   
  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กระแสข่าวความขัดแย้งระหว่างร.ต.อ.เฉลิมกับนายทักษิณ ว่า ไม่ทราบเรื่องนี้ ได้เห็นจากข่าวของสื่อมวลชน ทั้งนี้นายทักษิณและร.ต.อ.เฉลิมมีความสัมพันธ์ที่ดีกันอยู่แล้ว จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
   
  ขณะที่ผมให้ความเคารพร.ต.อ.เฉลิมอยู่แล้ว และมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามถ้าได้มีโอกาสพบกับร.ต.อ.เฉลิมก็คงจะได้สืบถามถึงกระแสข่าวดังกล่าว  ส่วนตัวยังคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ทุกๆ อย่างก็น่าจะเป็นไปด้วยดี และร.ต.อ.เฉลิมอยู่กับพรรคเพื่อไทยมานาน รวมถึงให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่พรรคในเรื่องต่างๆ อยู่แล้ว นายภูมิธรรม กล่าว
    
 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม เพื่อพิจารณาวาระกระทู้ถามสด โดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ชี้แจงกรณีการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งคำถามโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่มีข้อสังเกตว่า การทำงานของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะทำให้เสียเวลาและเสียงบประมาณ เนื่องจากที่ผ่านมามีผลการศึกษาและมีข้อสรุปร่วมกันว่าการทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องดำเนินการจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งประชาชน และเป็นเวลาที่ต้องเดินหน้าสู่การตั้งคำถามประชามติ และการตั้งคณะทำงานเท่ากับการยืมมือคนอื่นเพื่อย้อนหลักการของตนเอง พร้อมกับขอคำยืนยันว่าคณะทำงานจะรับจุดยืนของพรรคก้าวไกล ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกมาตรา และให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน 100%
   
  ทั้งนี้ นายภูมิธรรม ชี้แจงโดยยืนยันว่าการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษานั้น เพื่อความรอบคอบ ไม่ให้มีปัญหา ทั้งนี้ การดำเนินการนั้น รัฐบาลไม่สามารถมีมติให้ทำประชามติได้ เพราะต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนการศึกษาในประเด็นการตั้งคำถามประชามติ คือ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลเห็นว่าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจไม่ว่าวิธีใด เบื้องต้นยอมรับว่าจะพยายามทำในแนวทางของ ส.ส.ร.โดยนำความเห็นที่ศึกษาไว้ และพิจารณาความเห็นต่างด้วย
  
   ในการทำงานของคณะกรรมการต้องรับฟังความเห็นประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ และไม่ถูกตีตกไประหว่างทาง ขณะที่กรอบเวลาในการดำเนินการนั้น วางไว้ 4 ปี ซึ่งรวมถึงการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายใหม่
    
   "ผมเสียใจที่พรรคก้าวไกลไม่ร่วม ผมเคารพเหตุผล แต่จะไม่ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญสะดุด ซึ่งในอนาคตมีแผนว่าจะคุยกับพรรคก้าวไกลต่อไป" นายภูมิธรรม กล่าว
   
  จากนั้น นายพริษฐ์ ชี้แจงต่อประเด็นที่พรรคก้าวไกลไม่ร่วมคณะทำงานด้วยว่า เพราะไม่ต้องการเป็นตรายาง แต่ยินดีให้ข้อเสนอแนะต่อคณะทำงาน อย่างไรก็ดี ตนเข้าใจในหลักการการทำงานร่วมกัน แต่หากติดกระดุมเม็ดแรกผิด อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ 
    
 ขณะที่ นายภูมิธรรม ชี้แจงต่อว่า การตั้งคณะทำงานที่ดึงทุกภาคส่วน ตัวแทนวิชาชีพ ตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม เพื่อฟังความเห็นให้รอบด้าน คือ การติดกระดุมเม็ดแรกที่ถูกต้อง ซึ่งการทำงานได้วางกรอบไว้ 3 เดือน
  
 ที่รัฐสภา ส.ส.ก้าวไกล นำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยื่นร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. ต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร
   
  นายชัยธวัช กล่าวว่า  สืบเนื่องมากจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ยืดเยื้อต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน นับตั้งการชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มพันธมิตรประชนชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่11ก.พ.49 ลุกลามบานปลายจนเกิดการรัฐประหาร 19ก.ย.49 โดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ ต่อมายังมีการรัฐประหารซ้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งในห้วงเวลาเหล่านี้มีประชาชาชนจำนวนมากเข้าไปมีส่วนร่วมชุมนุม หรือแสดงออกทางการเมืองรูปแบบต่างๆ ตลอดระยะเวลามีประชาชนนับพันคนถูกดำเนินคดี ตั้งแต่คดีเล็กน้อยไปจนถึงคดีร้ายแรงเกี่ยวกับความมั่นคง
    
 นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า การดำเนินการมาถึงปัจจุบัน ยังไม่มีท่าทีจะยุติ คดีใดที่มีการกล่าวหาไปแล้วหลายคดีก็ยังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ยากที่จะทำให้สังคมไทยกลับสู่ความปกติสุข หรือสามัคคีกันในสังคม ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน มองว่าฝ่ายรัฐไม่มีความเคารพความเห็นต่างทางการเมือง ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง
       
"เพื่อให้สังคมไทยได้กลับมาเริ่มต้นกันใหม่ จำเป็นต้องยุติการใช้นิติสงครามต่อประชาชน ให้ประชาชนที่เคยแสดงออกทางการเมือง โดยมีเหตุจูงใจจากความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวได้หลุดพ้นจากการดำเนิคดี ดังนั้นการนิรโทษกรรมจึงเป็นหนทางที่จะถอนฝืนออกจากกองไฟ หยุดยุตินิติสงคราม เป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นสร้างความยุติธรรม และความปรองดองที่ยั่งยืนในสังคมไทยต่อไป"
    
 นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของร่างฯดังกล่าว มีดังนี้ 1.กำหนดให้บรรดาการกระทำใดๆของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนชุมนุมทางการเมืองตลอดจนการกระทำทางกายภาพ หรือการแสดงความคิดเห็นใดๆที่เป็นความผิดตามกฎหมาย ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 11ก.พ.49 จนถึงร่างฯพ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดกับพันธะกฎหมายต่าบประเทศ
      
 2.การนิรโทษฯจะไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำเกินสมควรกว่าเหตุ ตลอดจนจะไม่นิรโทษฯการกระทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และไม่นิรโทษฯการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา113
      
 3.กลไกการนิรโทษฯจะกำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม คณะกรรมการฯชุดนี้ ในร่างฯของพรรคก้าวไกล จะเสนอให้มีคณะกรรมการฯจำนวน 9 คน ซึ่งประธานรัฐสภา จะเป็นผู้แต่งตั้งบุคคลดังต่อไปนี้ 1.ประธานสภาฯ 1 คน 2.ผู้นำฝ่ายค้าน 1 คน 3.บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) 1 คน 4.มาจากบุคคลที่สภาฯเลือก 2 คน 5.ผู้พิพากษา หรืออดีตผู้พิพากษา 1 คน 6.ตุลาการ หรืออดีตตุลาการ 1 คน 7.พนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการอีก 1 คน ซึ่งต้องมาจากการนำเสนอของศาลปกครองและอัยการเอง และ8.เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 1 คน
     
  4.กำหนดสิทธิผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากระเบียบ ประกาศ คำสั่ง คำวินิจฉัย มติ หรือการกระทำของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำผิด เพื่อการนิรโทษกรรมตามพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ ให้มีสิทธิ์สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้เอง
     
  "สิ่งสำคัญที่สุดคือการคืนชีวิตใหม่ให้กับพี่น้องประชาชนที่โดนนิติสงคราม เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง หรือแสดงออกในทางการเมืองใดๆ แล้วถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งพี่น้องประชาชนจำนวนมากรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตัวเองในการเสริมสร้างบ้านเมืองโดยสันติ ได้รับการกระทบกระเทือน หรือการละเมิด เราเชื่อว่าการนิรโทษกรรมนี้ เป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้ หากพรรคการเมืองต่างๆ มีเจตจำนงร่วมกัน ที่จะผลักดัน และหากเราพิจารณาให้ดีเราจะพบว่า พรรคการเมืองต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ หรือไม่ได้ปฏิเสธการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองแต่อย่างใด"  นายชัยธวัช กล่าวและว่า หลังจากนี้พรรคก้าวไกลจะใช้โอกาสนี้ในการพูดคุยกับทุกพรรค ทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกสี ที่เคยมีความขัดแย้งกันในอดีตให้สำเร็จ 
    
 ด้าน ประธานสภาฯ กล่าวว่า จะได้ให้เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการสภาฯตรวจสอบลายเซ็นผู้ยื่นร่างฯ และสาระต่างๆเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับภายใน7วัน และจะแจ้งกลับไปผู้ยื่นให้ทราบโดยเร็ว