วันที่ 5 ตุลาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกทม.ดินแดง รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยคืบหน้าแนวทางบริหารจัดการผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตในกทม. ว่า ปัจจุบัน กทม.มีโครงการนำร่อง 58 โรงเรียน ในการประเมินนักเรียนรูปแบบใหม่ จากการสอบถามนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ที่มาเยี่ยมเด็กนักเรียนโรงเรียนสังกัดกทม.ว่า เด็กเครียดหรือไม่จากการต้องเรียนออนไลน์ ได้รับคำตอบว่า เด็กมีความเครียด มีการเรียนช้าลง ทักษะบางอย่างหายไป แนวทางแก้ไขคือ เพิ่มเครื่องมือในการจัดการเรียนการสอน เช่น เกณฑ์การประเมิน หลักสูตร เพื่อพัฒนาเด็กให้กลับมาเหมือนเดิม
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวความเป็นมาเรื่องนี้ว่า จากภาวะเครียดจากการเรียนออนไลน์ และสาเหตุด้านเศรษฐกิจที่บ้านส่วนหนึ่งของเด็กนักเรียน กทม.จึงเริ่มนำร่อง 58 โรงเรียน เน้นการเรียนการสอนแบบ EF (Executive Functions: การบริหารความสามารถทางสมอง) คือการพยายามเน้นให้เด็กใช้เหตุผลและมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ภายใต้กิจกรรมที่ใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง เช่น สอบถามความต้องการเด็กว่าอยากทำกิจกรรมอะไร เพื่อนำมาออกแบบกิจกรรมทำร่วมกัน ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมจะช่วยบ่งบอกว่านักเรียนมีความเครียดหรือไม่ หรือมีพัฒนาการด้านใดต้องเพิ่มเติม
จากเหตุยิงในสยามพารากอน กทม.ได้ประสานกับกรมสุขภาพจิต ในการสนับสนุนเครื่องมือคัดกรองเด็กที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตแก่โรงเรียนและบุคลากรที่เกี่ยวข้องมากขึ้น เพื่อเฝ้าระวังเบื้องต้น โดยเน้นเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้เป็นตัวตั้ง ขณะเดียวกันก็เก็บข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตไปด้วย โดยเน้นการสื่อสารให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของเครื่องมือที่นำมาใช้พัฒนาการเรียนรู้ ไม่ได้มีเจตนาค้นหาผู้ผิดปกติโดยตรง ต้องระมัดระวังเรื่องนี้ เพราะมีความละเอียดอ่อน
นอกจากนี้ กรณีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตในชุมชน กทม.กำลังประสานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยกทม.มีโครงการชุมชนยั่งยืนอยู่แล้ว แม้จะเน้นเรื่องผู้ป่วยยาเสพติดแต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลฟื้นฟูสภาพจิตใจ จึงมีแผนขยายผลเพื่อดูแลผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตในชุมชนเพิ่มเติมด้วย คาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้ามากขึ้น
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า โรงพยาบาลในสังกัดกทม.มีจิตแพทย์ประมาณ 23 คน สำนักอนามัย 1 คน ทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยระดับสีส้มและสีแดง ส่วนระดับสีเหลืองใช้นักจิตวิทยาสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาชุมชนในศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งมีความสัมพันธ์กับชุมชนมากกว่า ประกอบกับศูนย์บริการสาธารณสุขมีคลินิกสุขภาพจิต 6 แห่ง แบ่งเป็น 6 โซนพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งยอมรับว่า กทม.มีจิตแพทย์ไม่เพียงพอต่อประชากร เนื่องจากการผลิตแพทย์ด้านนี้ไม่ทันต่ออาการป่วยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และมีผู้เรียนด้านจิตแพทย์ไม่มาก ส่วนใหญ่เน้นการเรียนด้านรักษาร่างกายภายนอก สถานการณ์ด้านจำนวนจิตแพทย์ในสถานพยาบาลสังกัดกทม.จึงยังไม่สามารถรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่นได้ ต้องส่งต่อไปยังหน่วยงานของกรมสุขภาพจิต คือ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และโรงพยาบาลศรีธัญญา
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า ในส่วนสถานพยาบาลสังกัดกทม. เบื้องต้นสามารถรักษาผู้ป่วยทางกายที่มีอาการทางจิตร่วมด้วยได้ เมื่อประเมินแล้วว่าอยู่ในระดับสีเหลือง และพอควบคุมพฤติกรรมผู้ป่วยเบื้องต้นได้ แต่หากอาการหนักไม่สามารถควบคุมได้จำเป็นต้องส่งต่อหน่วยงานดังกล่าวของกรมสุขภาพจิต ปัจจุบันกทม.กำลังเพิ่มแผนกการรักษาผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตในโรงพยาบาล 3 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลสิรินธร ซึ่งการขยายแผนกด้านสุขภาพจิตต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมของผู้ป่วยด้วย โดยเตรียมพื้นที่รองรับผู้ป่วยแต่ละโรงพยาบาลประมาณ 8-10 เตียง แยกชายหญิง และกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับสนทนาเพื่อคัดกรองผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยง นำมารักษาและส่งต่อ รวมถึงอยู่ระหว่างหารือกับกรมสุขภาพจิต เพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านการดูแลสุขภาพจิตให้อาสาสมัครและบุคลากรในศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ตลอดจนครูในโรงเรียน เพื่อช่วยกันเฝ้าระวัง และคัดกรองผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตภายในชุมชนมากขึ้น