กระบวนการตรวจสอบจับกุมผู้กระทำผิดลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างในแหลมฉบัง ดำเนินมาถึงขั้นตอนที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ามาร่วมตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัทผู้กระทำผิด ซึ่งหากสอบสวนย้อนหลังไปถึงความผิดที่สำเร็จแล้ว หรือกระจายขายของผิดกฎหมายเข้าสู่ตลาดแล้ว ก็จะไม่ใช่เพียงการยึดของกลางมาทำลาย แต่จะติดตามการนำรายได้จากการขายหมูเถื่อนไปต่อยอดซื้อทรัพย์สินหรือทำธุรกิจใดๆ ทั้งหมดแล้วยึดทรัพย์เป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน ซึ่งสมควรแก่ความผิดที่เขาเหล่านั้น สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรไทยหมดตัวและเลิกอาชีพไปเป็นจำนวนมาก  

การสืบสวนขยายผลจาก 161 ตู้ดังกล่าว ทำให้ทราบว่ามีหมูเถื่อนเข้ามาถึงประเทศไทยก่อนหน้าตู้เหล่านี้จำนวนมาก เนื่องจากมีข้อมูลว่าบริษัทนำเข้าที่เกี่ยวพันกับคดี 161 ตู้นี้ มีการนำสินค้าหมูเถื่อนเข้ามายังประเทศไทยก่อนหน้าถูกจับกุมครั้งนี้หลายพันตู้ หรือคิดเป็นปริมาณจำนวนมากถึงหลายหมื่นตัน แน่นอนว่ามันคือหมูที่ถูกกระจายขายออกไปในท้องตลาดของประเทศไทยแล้วในช่วงปี 2564-2566 โดยมีหลักฐานเป็นใบขนสินค้าที่สำแดงเท็จเป็นโพลิเมอร์และอาหารทะเลแช่แข็งจำนวนมาก 

สอดคล้องกับตัวเลขการนำเข้าปลาแช่แข็งในปี 2565 ที่พบว่า ไทยนำเข้าปลาจากแหล่งผลิตหมูของโลกอย่างบราซิล ฝรั่งเศส และสเปน เพิ่มขึ้นถึง 250% ซึ่งแปลกมาก เพราะปี 2565 ไทยไม่มีภาวะขาดแคลนเนื้อปลา และระดับราคาปลาก็ไม่ได้สูงมากผิดปกติจนต้องเพิ่มการนำเข้ามากถึงขนาดนี้ ที่สำคัญคือไม่มีปริมาณเนื้อปลาแช่แข็งเพิ่มขึ้นในตลาด ทั้งๆที่รายการที่แสดงการนำเข้ามีมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 250% ดังกล่าว 

นี่จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และนำไปสู่บทสรุปได้ว่าปริมาณหมูเถื่อนจำนวนมากได้เข้ามากระจายในตลาดทั่วประเทศไทยแล้ว มากจนถึงขนาดสามารถกดดันราคาขายหมูหน้าฟาร์มของเกษตรกรไทยให้ตกต่ำลงจนถึงขั้นขาดทุน เป็นเหตุให้เกษตรกรหลายรายต้องยุติการเลี้ยงและเลิกอาชีพไป  

และเหตุผลที่ขณะนี้ราคาหมูไทยยังไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ ก็เป็นเพราะหมูเถื่อนที่เข้ามาก่อนหน้าและถูกเก็บไว้ตามห้องเย็นต่างๆ ทั่วประเทศ ต่างพากันเร่งระบายของออกมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.) เกรงเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ 2.) เกรงว่าหมูที่แช่ไว้ใกล้หมดอายุ เนื่องจากทำการแช่เย็นเก็บไว้มานานนับปี 3.) ราคาหมูไทยที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ก็อาจทำให้การขายหมูเถื่อนยากขึ้นเพราะหากราคาใกล้กันก็ขายไม่ออกจึงยิ่งต้องมีการลดราคาระบายสต็อก ซึ่งยิ่งกดดันราคาหน้าฟาร์มทำเกษตรกรลำบากมากขึ้น 

หนทางที่จะสกัดการระบายหมูเถื่อนออกจากห้องเย็นคือ การปูพรมตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ร้ายกังวลที่สุด กรมการค้าภายใน มีบทบาทสำคัญมาก เนื่องจากเป็นผู้กำกับดูแลธุรกิจห้องเย็น จึงควรต้องเป็นโต้โผร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าทำการตรวจสอบจริงจังอย่างรวดเร็ว อย่าปล่อยเวลาให้เหล่ามิจฉาชีพมีช่องว่างเวลาฉวยโอกาสในการระบายของเถื่อนออกสู่ตลาดเสียก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ในการขจัดของผิดกฎหมายที่มีอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภคชาวไทย

การปูพรมตรวจสอบห้องเย็นก็ส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ควรมองข้ามปลายจมูก เพราะการจับกุม 161 ตู้คอนเทนเนอร์ได้ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ไม่ได้แปลว่าหมูเถื่อนหมดไปจากแหลมฉบังแล้ว เนื่องจากยังมีตู้คอนเทนเนอร์แบบแช่เย็นตกค้างอยู่ในท่าเรือดังกล่าวอีกไม่ต่ำกว่า 39 ตู้ โดยยังไม่มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของ ซึ่งหากไม่ใช่ของผิดกฎหมาย คงไม่มีใครปล่อยทรัพย์สินของตนทิ้งค้างไว้เช่นนั้นนานกว่า 2 เดือนแน่นอน  

งานนี้คงต้องรอดูฝีมือ อธิบดีกรมศุลกากรท่านใหม่ “ธีรัชย์ อัตนวานิช” จะสั่งการเปิดตู้พิสูจน์ความจริง พร้อมกวาดบ้านกรมศุลฯ ให้สะอาดเอี่ยมเมื่อใด

โดย : ปฐพี สวัสดิ์สุคนธ์