สทนช.ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ กรมประชาสัมพันธ์ กองบัญชาการกองทัพไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคกลาง เกาะติดสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา รับมือน้ำหลากและบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนอย่างเป็นเอกภาพ เน้นเตรียมการป้องกันก่อนเกิดภัย ลดผลกระทบ พร้อมช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที
         

วันที่ 4 ต.ค. 66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง และเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคกลาง ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายไพรัตน์  เพชรยวน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีเปิดศูนย์ฯ ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ กรมประชาสัมพันธ์ กองบัญชาการกองทัพไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล  จ.พระนครศรีอยุธยา
         

สำหรับ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง  จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ติดตามประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และอำนวยการหน่วยงานในพื้นที่บริหารจัดการมวลน้ำในช่วงฤดูฝน  ให้เกิดความเป็นเอกภาพจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายโดยเร็ว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จึงเห็นควรดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำสวนหน้าในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัยร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผนและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม การวิเคราะห์คาดการณ์ที่แม่นยำทันต่อเหตุการณ์  โดยการประชุมจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน การเตรียมเจ้าหน้าที่ ทรัพยากร สถานที่ และสิ่งอำนวยสะดวกต่างๆ สำหรับรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงปลายฤดูฝนนี้  ให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจนเห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
         

ดรสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ   เปิดเผยว่า สทนช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในห้วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ร่องมรสุม และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง ทำให้บริเวณภาคเหนือและภาคกลาง  มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ประกอบกับในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำในบางพื้นที่ ซึ่งมวลน้ำหลากจากตอนบนจะส่งผลให้น้ำท่าบริเวณด้านท้ายน้ำมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น และมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 1,000 - 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณ จ.อ่างทอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบ
         

โดย สทนช.ได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  บริหารจัดการน้ำและเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน รวมถึงเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนและเกษตรกร  ในพื้นที่ว่าน้ำที่เก็บกักจะไว้สำรองไว้ใช้อุปโภค บริโภค ไม่สนับสนุนการทำนาปีต่อเนื่อง โดยกำหนดมาตรการเสริมเมนูอาชีพให้เป็นทางเลือกของเกษตรกร ปัจจุบันมีการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,449 ลูกบาตรเมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตาม จะพยายามระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยจะพยายามไม่ให้เกิน 1,500 ลูกบาตรเมตรต่อวินาที

​​​​​​​ ​​​​​​​