วันที่ 5 ตุลาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกทม.ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ว่า เรื่องสำคัญคือการผลักดันระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ในการประเมินเจ้าหน้าที่ภายในสำนักงานเขตมากขึ้น เชื่อว่าระบบดังกล่าวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ รวมถึงสามารถประเมินการแก้ไขปัญหา และการทำงานของแต่ละเขตได้ กทม.มีแผนจะใช้ระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ในการประเมินการทำงานมิติอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ความสำเร็จในการทำงาน ซึ่งมีผลต่อค่าตอบแทนเงินรางวัลในอนาคต จูงใจให้เจ้าหน้าที่ตั้งใจปฏิบัติงานมากขึ้น
เรื่องสำคัญต่อมาคือ จากกรณีเหตุการณ์ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน จากการประชุมสรุปสาระสำคัญ 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การเผชิญเหตุ ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการเขต เป็นผู้อำนวยการเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตนเอง แม้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ กทม.หรือไม่ก็ตาม ผู้อำนวยการเขตต้องรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ เช่น เหตุเกิดที่เขตปทุมวัน ผอ.เขตต้องตั้งมั่นในพื้นที่ เพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานข้อมูลต่อผู้บริหารรับทราบต่อไป 2.ระบบเตือนภัย เบื้องต้น กทม.จะเพิ่มช่องทางจาก LINE ALERT ที่มีอยู่ แต่เดิมรับแจ้งเรื่องภัยพิบัติ ฝุ่นPM2.5 ปัจจุบันมีแผนเพิ่มเรื่องจุดน้ำท่วม และเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งนี้ ต้องตรวจสอบความพร้อมด้วยว่าสามารถทำได้หรือไม่ รวมถึง พัฒนาระบบทราฟฟี่ ฟองดูว์ ภายใน 7 วัน เพื่อให้สามารถแจ้งเหตุไปสู่ผู้ที่ต้องการรับได้ เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 3.พัฒนาระบบการแจ้งเตือน ทั้งในส่วนที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย (ปภ.) ดูแล และส่วนที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อย่างไรก็ตาม การแจ้งเหตุเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งแง่ความถูกต้องของข้อมูล เพราะมีผลต่อผู้รับ และอาจมีผลต่อการควบคุมเหตุด้วย ดังนั้น เหตุบางอย่างอาจมีการควบคุมข้อมูลในการเผยแพร่ เพื่อการทำงานของผู้ควบคุมเหตุที่เกิดขึ้น ต้องหารือเรื่องนี้ให้ครบถ้วน
โดยเรื่องดังกล่าว รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อธิบายว่า หลักการของระบบการแจ้งเตือนไปสู่ผู้ที่ต้องการรับ คือ การส่งข้อความไปหาบุคคลที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุหรือใกล้เคียง โดย ปภ.กำลังพัฒนาระบบดังกล่าว มีจุดประสงค์เตือนสาธารณภัยด้านธรรมชาติ ซึ่งมีระบบแจ้งเตือนข้อมูลถึงผู้รับ ดังนั้น หากเพิ่มช่องทางในการแจ้งเตือนภัยด้านอื่น ต้องประสานหน่วยงานความมั่นคง เจ้าของอาคาร/พื้นที่สำคัญ เข้ามาอยู่ในระบบแจ้งเตือนที่ต้องการจะเพิ่มช่องทาง รวมถึงการประสานงานกับ กสทช. แต่เดิมกทม.มีการประสานงานเรื่องข้อมูลแผ่นดินไหวอยู่แล้ว แต่จะเพิ่มการนำเสนอข้อมูลบางอย่างที่เกิดขึ้นนอกพื้นที่กทม. เพื่อนำไปแจ้งเตือนในเครือข่ายของกทม. รวมถึง การรวมระบบ LINE ALERT และ LINE OA ของกทม.เข้าด้วยกัน เพื่อการแจ้งเหตุที่สะดวกรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่ คาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ภายในสัปดาห์หน้า
นายชัชชาติ กล่าวว่า ด้านการดูแลสุขภาพจิต กทม.มีอัตรากำลังด้านจิตแพทย์ค่อนข้างน้อย โดยกทม.มีนักจิตวิทยาในสำนักอนามัย 23 คน สำนักการแพทย์ 1 คน ขณะเดียวกันผู้ป่วยไม่กล้าเข้ามารักษาในสถานพยาบาล กทม.มีแผนให้ความรู้ด้านจิตแพทย์ในศูนย์บริการสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข รวมถึงบุคลากรในโรงเรียนเพื่อช่วยกันค้นพบเด็กที่มีปัญหาสามารถช่วยเหลือได้ทันเวลา แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่รอให้เกิดความรุนแรง
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรื่องสุขภาพจิตพบในคนรุ่นใหม่จำนวนมาก จากการทดสอบในโรงเรียนสังกัด กทม.ด้วยระบบแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้น พบว่า เด็กไม่กล้าสื่อสารกับครู ส่วนมากผู้ที่มีอาการด้านสุขภาพจิตจะเชื่อเพื่อนและเครือข่ายของตนเอง กทม.จึงมีแนวคิดเชื่อมโยงเครือข่ายด้านสุขภาพจิตทั้งหมด ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน เน้นการสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่นเพื่อสร้างความไว้ใจในกระบวนการรักษา รวมถึง กทม.จะเน้นการปลูกฝังการเรียนและการประเมิน ปัจจุบันเริ่มนำร่องแล้ว 58 โรงเรียน ในการเปลี่ยนระบบการประเมินจากการแข่งขันตามลำดับที่ 1 และ 2 ส่งผลให้คนที่ได้ลำดับอื่นลงมารู้สึกทุกข์ทั้งหมด แต่หากหันมาประเมินด้านทักษะเฉพาะตนของแต่ละคน อาจช่วยให้เด็กแต่ละคนมีชัยชนะเป็นของตัวเอง ไม่ต้องคอยเปรียบเทียบกับคนอื่น