นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อและอดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย แสดงความคิดเห็นกรณี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ที่ประสงค์จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยยอมให้พรรคก้าวไกลขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นว่า เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจากการเลือกนายปดิพัทธ์ ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเนื่องจากขณะนั้นพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการรวมเสียงข้างมากเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น เจตจำนงของ ส.ส. ที่เลือกให้นายปดิพัทธ์ ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ ก็เพื่อเป็นรองประธานสภาฯ ในฟากฝั่ง ของรัฐบาล แต่เมื่อข้อเท็จจริงพรรคก้าวไกลเปลี่ยนสถานะเป็นพรรคฝ่ายค้านและเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด เมื่อหัวหน้าพรรคก้าวไกลต้องการเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็ต้องให้นายปดิพัทธ์ ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 วรรคหนึ่ง อันเป็นไปตามหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การที่นายปดิพัทธ์ จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป โดยไปสังกัดพรรคฝ่ายค้านอื่น ตนจึงเห็นว่าเป็นการหลีกเลี่ยงและสมยอมกันของพรรคก้าวไกลและนายปดิพัทธ์ เพื่อต้องการให้คนของตนได้ทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านและรองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นการกระทำที่ผิดไปจากเจตจำนงของ ส.ส. ที่เลือกนายปดิพัทธ์ และขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
“เมื่อดูจากกระบวนการ การมีมติให้นายปดิพัทธ์ พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคแล้วยิ่งชัดเจนว่า การให้นายปดิพัทธ์ พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคมิได้ เกิดจากการทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงอันจะเป็นเหตุให้พรรคต้องมีมติขับนายปดิพัทธ์ ออกจากการเป็นสมาชิกแต่อย่างใด โดยดูจากแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลยิ่งเห็นถึงกระบวนการว่าเป็นไปโดยไม่ชอบ เนื่องจากในการประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้มีการกล่าวโทษ สอบสวน แสวงหาข้อเท็จจริงใดๆ ของคณะกรรมการจริยธรรมของพรรคเลย เพียงแต่เชิญนายปดิพัทธ์ มาพูดคุยภายหลังเมื่อนายปดิพัทธ์ แสดงเจตนาว่าจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ที่ประชุมร่วมก็มีมติให้นายปดิพัทธ์ พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคทันที ตนจึงเห็นว่าเจตนาของนายปดิพัทธ์ คณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลน่าจะมีปัญหาเรื่องความสุจริตและมีปัญหาเรื่องการฝ่าฝืนจริยธรรมได้ ส่วนการกระทำของพรรคก้าวไกลเองก็อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) อันเป็นการกระทำเพื่อได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”
นายพร้อมพงศ์ ได้กล่าวต่อไปว่า จากประสบการณ์ที่ตนเคยเป็นผู้ที่ถูกกระทำมาก่อน จึงออกมาเตือนด้วยเจตนาที่ดีต่อพรรคก้าวไกล เพราะเห็นว่าเคยอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันมา รัฐธรรมนูญ 60 เขียนกับดักเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมไว้ หากนายปดิพัทธ์ ยังจะดึงดันกอดตำแหน่งรองประธานสภาฯ ไว้กลัวจะเป็นทุกข์ลาภเรื่องความเหมาะสม คนก็จะติติง ระวังจะพาคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลตายหมู่ เพราะเท่าที่ทราบตนเข้าใจว่ามีผู้ไปร้อง ปปช.ให้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว แนะนำให้นายปดิพัทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง รองประธานสภา เสียสละคนเดียวแต่ความเป็น ส.ส.ก็ยังอยู่ เพื่อรักษา ส.ส.เพื่อนสมาชิก รักษาพรรคไว้จะไม่ดีกว่าหรือ ในอดีตกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ มีมติขับร้อยเอกธรรมนัส และ ส.ส. ในกลุ่มออกจากพรรคอาจเคยมีมาแล้ว แต่ว่าโดนขับออกจากพรรคแล้วยังดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ ไม่เคยมี ตนกลัวว่ามันจะไปเข้าเรื่องจริยธรรม เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อยากให้กลับนายปดิพัทธ์ ไปคิดดูว่าสิ่งที่ทำๆ กันอยู่มันคุ้มค่าหรือไม่ จะได้คุ้มเสียหรือเปล่า