“พงพนาเซราะกราว พงพนาก็คือป่า ส่วนเซราะกราวเป็นภาษาถิ่นของบุรีรัมย์ หมายความว่าบ้านนอก พื้นที่ที่เราอยู่นี้เป็นบ้านนอก หรือชนบท จึงให้โจทย์นักศึกษาว่าจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชนชนบทของเรา โดยได้ประสานกับโครงการวิจัยการแก้ไขปัญหาความยากจน และใช้พื้นที่ของนายคำนึง เจริญศิริ เกษตรกรตัวอย่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ขยายผลเวทีชาวบ้านของชุมชน โดยนักศึกษาขยายผลการทำปุ๋ยหมักใบไม้ที่ผ่านกระบวนการวิจัยมาแล้วของ มหาวิทยาลัยที่มีความเหมาะสมกับดินและพันธุ์พืชที่จะนำมาปลูก จากนั้นจึงนำไปเผยแพร่ให้ชาวบ้านในชุมชนได้ใช้ประโยชน์” นางสาวภาวิดา แสนวันดี อาจารย์ที่ปรึกษาทีมพงพนาเซราะกราว จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กล่าวภายหลังทีมชนะเลิศการประกาศผลรางวัลการประกวดโครงการของเยาวชนอาสาสานต่อพระราชดำริ "สานรักษ์ ดิน น้ำ ป่า พัฒนาคุณภาพชีวิต" ภายใต้โครงการค่ายเยาวชนรู้งานสืบสานพระราชดำริ (RDPB Camp) รุ่นที่ 13 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 โดยมีนางพิชญดา หัศภาค รองเลขาธิการ กปร. เป็นประธานในพิธี ณ ห้องประชุมหนุมาน 1 สำนักงาน กปร.

นายณัฐภัทร อุ่นศิริวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะครุศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เปิดเผยว่า โครงการเยาวชนสานรักษ์ ดิน น้ำ ป่า คืนถิ่นบุรีรัมย์ เป็นผลมาจากในพื้นที่ประชาชนจะทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว มีการใช้สารเคมีทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ขาดความอุดมสมบูรณ์ ขณะที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งเลี้ยงสัตว์ วัว ควาย และสัตว์อื่นๆ ซึ่งมีมูลเป็นจำนวนมาก จึงมีความคิดในการแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างในดิน และลดต้นทุนให้แก่ชาวบ้าน จึงได้ทำโครงการที่เกี่ยวกับปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงบำรุงดินสูตรที่ชาวบ้านทั่วไปสามารถทำได้ด้วยตนเอง วัตถุดิบหาได้ในพื้นที่ มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก รวดเร็ว ประหยัด ได้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อชนิดพืชที่ชาวบ้านเพาะปลูก โดยได้มีการส่งปุ๋ยหมักไปวิเคราะห์ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อยืนยันธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช ซึ่งจะขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอื่นๆ ต่อไป

ด้านรองชนะเลิศอันดับ 2 นายนิฮาเรน บาเฮง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยชุมชนปัตตานี ทีมลังกาสุกะ 3 จัดทำโครงการผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากป่าชายเลน ต้นทุนจากภูมิปัญญาซั้งปลา : ต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมที่ใช้สีย้อมผ้าจากไม้ที่ขึ้นในป่าชายเลน เปิดเผยว่า การตัดเย็บผ้าเพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อใช้งานในชีวิตประจำวันของชาวบ้านมีมานานแล้ว ทางทีมจึงได้นำมาต่อยอดพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า กางเกงมัดย้อม ผ้าเช็ดหน้ามัดย้อม ถุงผ้าลดโลกร้อนมัดย้อม ซองใส่โทรศัพท์จากผ้ามัดย้อม รวมไปถึงสร้างช่องทางขายในตลาดออนไลน์ โครงการนี้จะสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกลุ่มลังกาสุกะได้ร่วมกับชุมชนดำเนินกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ลังกาสุกะ 1 ทำซั้งปลาบริเวณชายฝั่งทะเล ลังกาสุกะ 2 ริเริ่มนำเปลือกไม้ รากไม้ และใบของต้นโกงกาง ต้นแสม มาสกัดสีเพื่อใช้ย้อมผ้า ลังกาสุกะ 3 จึงได้ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เสื้อ กระเป๋า ผ้าเช็ดหน้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ของชาวบ้าน จนส่งเข้าประกวดและได้รับรางวัลในครั้งนี้

นอกจากนี้มีทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลชมเชย ทั้งนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น จำนวน 29 ทีม จาก 24 สถาบัน และได้รับการคัดเลือก 20 ทีม จากสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ รวมเป็นจำนวน 80 คน แบ่งเป็นทีมละ 4 คน ประกอบด้วย ภาคกลาง 5 ทีม ภาคอีสาน 6 ทีม ภาคเหนือ 2 ทีม และภาคใต้ 7 ทีม โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 28 เมษายน 2566 ที่ผ่านมาในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา

โครงการฯ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จัดขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติได้เข้ามาเรียนรู้ในสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริไว้ไปจนถึงการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10