จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ “เยาวชน” อายุ 14 ปี ใช้อาวุธปืน กราดยิง ในห้าง “พารากอน” จนทำให้มีผู้บาดเจ็บ 5 ราย และเสียชีวิต 2 ราย
โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ของการก่อเหตุสะเทือนขวัญ คงหนีไม่พ้นเรื่อง "ปืน" ที่นับวัน จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ จนนำไปสู่การระดมสมองลุยกวาดล้างอย่างหนัก
โดยก่อนหน้าเดือน ก.ค.ปีที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์เปิดยุทธการ CyberCop cracked down on Online Scammers ตรวจยึดอาวุธปืนและเครื่องกระสุนจำนวนมาก ที่น่าสนใจคือ การตรวจยึดแบลงค์กันได้กว่า 2,000 กระบอก กระสุนปืนกว่าแสนนัด หลังพบการซื้อขายออนไลน์ผ่านหน้าเว็บไซต์และส่งสินค้าผ่านเอกชน โดยการแถลงข่าวครั้งนั้น กองพิสูจน์หลักฐานออกมายืนยันว่า ปืนแบลงค์กัน หากนำมาดัดแปลงให้ขับกระสุนออกได้ ก็มีสภาพเทียบเท่าอาวุธปืนจริง เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งหากมีการดัดแปลงเมื่อยิงกระสุนแบลงค์ แรงดันที่เกิดขึ้นดันกระสุนจำลองพุ่งใส่ร่างจนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ตอกย้ำอานุภาพของแบลงค์กัน อันตรายเกินกว่าจะเป็นเพียงสิ่งเทียมอาวุธปืน ที่น่าตกใจในแต่ละเดือนมีการส่งปืนแบลงค์กันมาให้ทางกองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ เฉลี่ยเดือนละกว่า 100 กระบอก หรือปีละ 1,200-1,500 กระบอก ส่วนใหญ่เป็นอาวุธปืนแบลงค์กันที่ดัดแปลงแล้ว และนำไปใช้ก่อเหตุต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากองค์กรที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธปืนขนาดเล็ก (Small Arms Survey) หรือ SAS ของสวิตเซอร์แลนด์ ระบุว่า หากดูสถิติประเทศที่พลเรือนครอบครองปืนสูงสุด อันดับ 1 คือ สหรัฐอเมริกา ประมาณ 393.3 ล้านกระบอก อันดับ 2 อินเดีย ประมาณ 71.1 ล้านกระบอก อันดับ 3 จีน ประมาณ 49.7 ล้านกระบอก ขณะที่ประชาชนไทยครอบครองอาวุธปืนขนาดเล็ก ในปี 2017 เป็นอันดับ 13 ของโลก หากนับประชากรในอาเซียน 647 ล้านคน ประชากรของไทย 68 ล้านคน มีอาวุธปืนที่อยู่ในการครอบครองของพลเรือนถึง 10,342,000 กระบอก นับเป็นประเทศที่ครอบครองปืนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือคิดเป็นอาวุธปืนขนาดเล็ก 15 กระบอก ต่อประชากร 100 คน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงพอสมควร ขณะที่ปืนราว 6.2 ล้านกระบอก มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และปืนไม่มีทะเบียนราว 6 ล้านกระบอก
เช่นเดียวกับเว็บไซต์ World Population Review ที่เผยแพร่ผลสำรวจประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ประจำปี 2022 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 15 มีผู้เสียชีวิต 2,804 คน โดยคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 3.91 คน ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ 5 อันดับแรกของประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ได้แก่ อันดับที่ 1 บราซิล (มากกว่า 49,000 คน) อันดับ 2 สหรัฐอเมริกา (37,000 คน) อันดับ 3 เม็กซิโก (22,118 คน) อันดับ 4 อินเดีย (14,712 คน) อันดับ 5 โคลอมเบีย (13,171 คน) ส่วนในอาเซียน ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นอันดับ 1 ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุด (9,267 คน)