วันที่ 4 ตุลาคม 2566 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ ครั้งที่1 ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)

ในที่ประชุม นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้รายงานผลการศึกษาบางส่วนต่อสภากรุงเทพมหานคร ว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือถึงกทม. 5 ครั้ง เพื่อให้ชำระค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยในการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 จำนวน 22,948,626,080.10 บาท ซึ่งหนี้ส่วนนี้หากกทม.ไม่รับมาดำเนินการจะทำให้มีดอกเบี้ยสูงขึ้นทุกวัน ปัจจุบันมีดอกเบี้ยวันละ 3 ล้านกว่าบาท โดยส่วนงานติดตั้งระบบการเดินรถ (E&M) เป็นทรัพย์สินที่สามารถแยกออกมาดำเนินการได้ คณะกรรมการวิสามัญฯ มีข้อสังเกตว่า บันทึกข้อตกลงมอบหมายโครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-ดูคตและช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ฉบับลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 เป็นประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายและมีข้อต่อสู้ในชั้นศาลปกครองสูงสุด เพื่อไม่เป็นการทำให้เสียรูปคดี จึงมีข้อสังเกต ดังนี้

1.กรุงเทพมหานครควรแยกทำสัญญางานติดตั้งระบบการเดินรถ (E&M) ฉบับใหม่กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2.กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการและดูแลสัญญาแทนบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด 3.หากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เสนอราคาขายทรัพย์สินพร้อมเงื่อนไขที่เหมาะสมควรเป็นธรรมต่อทั้ง 2 ฝ่าย 4.หากกรุงเทพมหานครและบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถตกลงกันได้ ควรคืนโครงการนี้กลับไปให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ

นายนภาพล กล่าวว่า รายงานดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางให้ผู้บริการกทม.นำไปพิจารณาเท่านั้น ไม่ใช่ข้อกำหนดให้ทำตาม ทั้งนี้ เรื่องทั้งหมดแม้จะผ่านการพิจารณาจากกระทรวงมหาดไทย และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ท้ายสุดแล้วก็ต้องนำเข้าสภากทม.อีกครั้ง เพื่อให้สภากทม.รับทราบขั้นตอนการดำเนินการระยะต่อไป หลังมีมติที่ชัดเจนจากคณะรัฐมนตรี

สำหรับ ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย  1.ค่าโครงสร้างพื้นฐาน 2.งานติดตั้งระบบเดินรถ (E&M) 3.งานเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โดยส่วนต่อขยายที่ 1 มีจำนวนหนี้งานเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) จำนวน 4,832,976,760.03 บาท และส่วนต่อขยายที่ 2 มีค่าโครงสร้างพื้นฐาน ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต รวม 55,127,318,260.49 บาท ค่า E&M จำนวน 19,173,745,585.04 บาท และค่า O&M จำนวนรวม 24,068,625,620.13 บาท รวม กทม.มีหนี้ทั้งหมด 98,369,689,465.66 บาท