วันที่ 4 ต.ค. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังรับตำแหน่ง โฆษกฯ ว่า การทำงานในฐานะรองโฆษกฯอาจยังไม่ค่อยลงตัว มีความตื่นเต้นเล็กน้อย และเพิ่งเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นครั้งแรก คิดว่าในสัปดาห์หน้าน่าจะเข้าที่ ส่วนเรื่องการทำงานได้หารือกับโฆษกรัฐบาลว่าจะช่วยกัน โดยตนเริ่มชีวิตการเมืองจากพรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทย ไปพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จนมาอยู่กับพรรคภูมิใจไทย เมื่อได้เข้ามาทำงานหน้าที่ตรงนี้ถือว่าได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ โดยได้รับมอบจากโฆษกฯว่าหากเป็นประเด็นทางกฎหมาย ก็ให้ตนชี้แจง นอกจากนั้นจะขับเคลื่อน ประเด็นที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาล รวมถึงงานทั้ง 4 กระทรวงของพรรคภูมิใจไทย ทั้งนี้ตนยินดีที่จะร่วมมือกันทำงานกับสื่อมวลชน ส่วนประเด็นทางการเมืองจะพูดบ้าง โดยไม่ให้เกิดเป็นความขัดแย้ง
“ผมเคยถูกกล่าวหาเปลี่ยนช่องทางการเมือง วันนี้ตอบได้ว่าไม่ใช่ ผมไม่ได้เปลี่ยนเส้นทาง และไม่ใช่งูเห่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาจะตอบได้ชัดว่าที่ไหนที่มีพื้นที่ให้ทำงานให้ประชาชนได้ ก็จะเลือกไปอยู่ที่ใหม่ที่ให้โอกาส เป็นปกติของนักการเมือง และสส.ที่มาอยู่พรรคใหญ่ เช่น เพื่อไทย ก็เคยเปลี่ยนมาหลายพรรค ส่วนผมแม้จะอยู่มาหลายพรรค แต่มาอยู่กับพรรคภูมิใจไทย หลังจากที่ยุบสภาแล้ว จึงขอความเป็นธรรมกับสื่อ หากจะเรียกผมก็ให้เป็นไปตามกระแส ขอย้ำว่าผมไม่เคยทิ้งอุดมการณ์ที่จะช่วยบ้านเมือง นับตั้งแต่ที่ผมเป็นทนายนปช. อยู่กับประชาชน จนมาเป็นสส. ถ้าติดตามจริงผมยึดประชาชนเป็นหลัก” นายคารม กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามกรณีการมีตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาล จะทำให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆได้ไม่เต็มที่หรือไม่ นายคารม กล่าวว่า ไม่ใช่ ตนยังมีตัวตนของตัวเอง โดยต้องดูว่าจะช่วยขับเคลื่อนการทำงานของรัฐบาลได้อย่างไรด้วย และส่งเสริมมุมมองในเชิงบวก
เมื่อถามว่ามองเจตนา ของพรรคก้าวไกล ที่ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมในคณะกรรมการศึกษาจัดทำประชามติ เพื่อแก้แล้วธรรมนูญ อย่างไร นายคารม กล่าวว่า เขาอาจมองในมุมที่ว่าทำแบบนี้อาจไม่ได้รัฐธรรมนูญตามที่เขาคิดไว้ เพราะออกแบบไม่เหมือนกัน ตนเข้าใจวิธีคิดของพรรคก้าวไกล ที่อยากทำอะไรให้ได้ดั่งใจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะสังคมมีหลายกลุ่ม พรรคการเมืองมีหลายพรรค ประชาชนมีหลายกลุ่ม จึงต้องมารวมตัวพูดคุยกัน
นายคารม กล่าวว่า ส่วนกรณีของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ ที่ถูกขับออกจากพรรค และไปตีความตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์ แต่พอคนอื่นทำบ้าง กลับกล่าวหาว่าทำเพื่อประโยชน์ วันนี้ทุกอย่างตอบโจทย์ชัด เมื่อครั้งที่ตนโหวตสวนพรรคก้าวไกล เป็นการโหวตโดยใช้เอกสิทธิ์ และต่อมาถูกขับจากพรรค ส่วนกรณีของนายปดิพัทธ์ ทั้งที่เป็นพรรคมีเสียงข้างมาก แต่ไม่ได้อยู่ในรัฐบาลแล้วมีสส.ไปเป็นรองประธานสภา เรียกว่าปีกของสภา จะมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านไม่ได้ จึงต้องเลี่ยงวิธีการ เป็นการเดินทัพลอย ทำเหมือนที่เคยกล่าวหาคนอื่นไว้ สะท้อนว่าเวลาที่ว่าคนอื่นแล้วมาคิดทีหลังว่าคนที่ว่าถูกแต่เขาเสียหายไปแล้ว พรรคก้าวไกลต้องมาดูตรงนี้ แม้แต่เรื่องรัฐธรรมนูญ สุดท้ายก็เป็นเรื่องทำอะไรเอาแต่ใจตัวเอง ทั้งที่ทำไม่ได้เพราะการเมืองต้องมาช่วยกันร่วมกันคิด บ้านเมืองจึงจะเดินไปได้
เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกล เป็น แกนนำฝ่ายค้าน แต่ไม่มาร่วมเป็นกรรมการศึกษาประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ จะทำให้การดำเนินงานสะดุดหรือไม่นายคารม กล่าวว่า ไม่สะดุด แต่อาจไม่สมบูรณ์ทุกมิติ เพราะถ้าฝ่ายค้านไม่เข้าร่วม ก็จะดูว่าทุกคนไม่เห็นพร้อมกัน ก็อาจไม่ลงตัว และอาจเกิดความขัดแย้งเชิงความคิดและเนื้อหาจะเป็นไป ในรูปแบบใด ในเมื่อเขาไม่เข้าร่วมก็แสดงว่าจุดยืนแตกต่างกัน