"นายกฯ" เรียกประชุมปรับส่งข้อมูลเตือนภัยระดับชาติให้รวดเร็วผ่านมือถือ หลังเกิดเหตุยิงในสยามพารากอน

นายพชร นริพทะพันธุ์ โฆษกประจำประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เปิดเผยว่า จากการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังเรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ เพื่อวางแผนเรื่องการแจ้งข้อมูลฉุกเฉินแก่ประชาชนหลังเกิดเหตุยิงกลางสยามพารากอนนั้น นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ให้ กสทช.เตรียมข้อมูลเสนอต่อที่ประชุม โดย กสทช.พร้อมเป็นกุญแจเชื่อมต่อการแจ้งเตือนกับค่ายมือถือหรือโอเปอเรเตอร์ทุกราย แต่อำนาจและข้อมูล ข้อความในการเตือนภัยในขณะนี้อยู่ที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลางทางด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ และควบคุมสั่งการในภาวะวิกฤติ ตลอดจนแจ้งเตือนภัยพิบัติทุกประเภท ดังนั้นหากทางรัฐบาลสั่งการออกระเบียบให้ศูนย์เตือนภัยฯมีการแจ้งข้อมูล และประสานมายัง กสทช. ทาง กสทช.จะแจ้งโอเปอเรเตอร์เพื่อเตือนภัยได้ทันที

โดยในขณะนี้ กสทช.ได้จัดไทม์ไลน์ในการดำเนินการ ว่าจะต้อง ทำอะไรบ้าง เสนอต่อ รมว.ดีอี เพื่อให้การทำงานในลักษณะ Emergency Alert System (EAS) ระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน และข้อความแจ้งเตือนจากรัฐบาล ซึ่งได้มีการใช้งานเป็นระบบเตือนภัยสาธารณะแห่งชาติดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์รวดเร็ว เช่น การเลือกใช้เทคโนโลยีค่ายสหรัฐ หรือญี่ปุ่นใช้รูปแบบอนาล็อก หรือดิจิทัล อย่างไรก็ตามจากที่ประเทศไทยเข้าสู่เทคโนโลยี 5 G แล้วก็น่าจะใช้รูปแบบดิจิทัลแจ้งผ่านมือถือ และสามารถใช้ตาม CODE ของอุปกรณ์ในมือถือนั้นๆสามารถแปลงได้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศเตือนทั้งคนไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักลงทุน และอื่นๆ

“ศูนย์เตือนพิภัยแห่งชาติเคยสังกัดดีอี แต่ภายหลังได้ย้ายสังกัดไปกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในขณะนี้หากมีระเบียบชัดเจนให้ศูนย์ฯจัดทำข้อมูลข้อความเตือนภัยทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุด่วนเหตุร้าย ปัญหาพีเอ็ม 2.5 หรืออื่นๆแล้วให้ กสทช.สั่งการกระจายข้อมูลไปยังโอเปอเรเตอร์ ทาง กสทช.จะเร่งดำเนินการทันที ซึ่งเรื่องข้อความข้อมูลก็ต้องไม่สร้างแพนิก หรือตื่นตระหนกจนเกินไป ขณะที่การเลือกเทคโนโลยีนั้นก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว”