วันที่ 4 ต.ค.66 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและ ท่าอากาศยาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ -Dr.samart Ratchapolsitte ระบุว่า...
มีการเปิดใช้อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 หรือ SAT-1) ในสนามบินสุวรรณภูมิไปเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในโฟกัสความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาในระหว่างพิธีเปิดใช้ SAT-1 ไม่ถูกต้องทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ เนื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ถ้าอ่านบทความนี้จะรู้ว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ใครทำ ? ใครอวย ? ใครแขวะ ?
1. มีการจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปี 2535-2536 (รัฐบาลชวน หลีกภัย)
แนวคิดการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิมีมานานมากแล้ว แต่เริ่มมาเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี 2535-2536 (รัฐบาลชวน หลีกภัย) เมื่อมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิขึ้นมา แผนแม่บทนี้จัดทำโดยกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โดยมีบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังของอเมริการ่วมอยู่ด้วย
ในช่วงหนึ่งของชีวิตการทำงานของผม ผมมีอาชีพเป็นวิศวกรที่ปรึกษาด้านคมนาคมขนส่ง โดยได้มีโอกาสทำงานในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย อีกทั้ง ได้ทำงานกับบริษัท หลุยส์ เบอร์เจอร์ฯ อยู่หลายปี โดยได้ร่วมจัดทำแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิด้วย ทำให้ผมมีข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิพอสมควร
แผนแม่บทนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบหลักดังนี้
(1) อาคารผู้โดยสารหรือเทอร์มินัล 2 หลัง ประกอบด้วยเทอร์มินัล 1 อยู่ทางทิศเหนือด้านมอเตอร์เวย์ และเทอร์มินัล 2 อยู่ทางทิศใต้ด้านถนนบางนา-ตราด
(2) อาคารเทียบเครื่องบินรอง (สำหรับให้ผู้โดยสารนั่งรอขึ้นเครื่องบิน) 2 หลัง ตั้งอยู่ระหว่างเทอร์มินัล 1 และเทอร์มินัล 2
(3) รถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover หรือ APM) วิ่งใต้ดินเชื่อมระหว่างเทอร์มินัล 1 กับเทอร์มินัล 2 และ
(4) รันเวย์ 4 เส้น ตั้งอยู่ด้านตะวันตก 2 เส้น และด้านตะวันออก 2 เส้น
องค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 120 ล้านคนต่อปี
2. ปี 2540 “นายชวน หลีกภัย” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นประกาศในสภาฯ เดินหน้าก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะเร่งก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิโดยใช้งบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ตามที่ ครม. ได้อนุมัติไว้เมื่อประมาณปี 2537 (รัฐบาลชวน หลีกภัย)
3. ปี 2544-2545 (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร) ประมูลก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1
ประมาณปี 2544-2545 มีการประมูลก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 หรือ เทอร์มินัล 1 (อาคารผู้โดยสารที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน) ราคากลาง 45,000 ล้านบาท แต่บริษัทที่ชนะการประมูลเสนอราคาสูงกว่าราคากลาง รัฐบาลในขณะนั้นจึงปรับลดเนื้องานโดยตัดปีกด้านตะวันออกและตะวันตกออก พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนวัสดุบางส่วน ทำให้ราคากลางลดลงเหลือ 36,000 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ เทอร์มินัล 1 จึงยังก่อสร้างไม่ครบถ้วนตามแผนแม่บท เหลือเป็นที่ว่างด้านตะวันออกและตะวันตกอยู่ ซึ่ง ทอท. จะต้องขยายเทอร์มินัล 1 ออกไปทั้งสองด้าน
4. อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) และรถไฟฟ้า APM เป็นการก่อสร้างตามแผนแม่บท
จะเห็นได้ว่า SAT-1 และรถไฟฟ้า APM ที่เพิ่งเปิดใช้เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นการก่อสร้างตามแผนแม่บทที่ได้จัดทำไว้เมื่อปี 2536 (รัฐบาลชวน หลีกภัย) ไม่ได้ก่อสร้างตามวิสัยทัศน์ของใครคนใดคนหนึ่ง
5. อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ไม่ได้ล่าช้าเพราะรัฐประหาร
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. คมนาคม กล่าวรายงานในพิธีเปิด SAT-1 ว่า หากไม่มีรัฐประหาร SAT-1 คงเสร็จไปตั้งแต่ปี 2560 แล้ว การกล่าวเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า รมว. คมนาคมโยนเหตุแห่งความล่าช้าไปที่รัฐประหารปี 2557 ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย
ความจริงก็คือ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 ครม. ได้มีมติเห็นชอบโครงการ SAT-1 ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งในแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2554-2559) ของ ทอท. นั่นหมายความว่าตามแผนพัฒนาระยะที่ 2 ทอท. ต้องการก่อสร้าง SAT-1 ให้แล้วเสร็จในปี 2559 แต่ที่ล่าช้า เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเร็วๆ นี้ รมว. คมนาคม ควรเรียกผู้บริหาร ทอท. มาซักถามดูว่าเป็นเพราะอะไร ? อาจเป็นเพราะงานออกแบบล่าช้าเกือบ 2 ปี ? และ/หรือ เป็นเพราะการมุ่งมั่นที่จะก่อสร้างเทอร์มินัลหลังใหม่ซึ่งไม่มีอยู่ในแผนแม่บท ?
เทอร์มินัลหลังใหม่นี้ผมเรียกว่า “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ” โดย ทอท. ต้องการที่จะก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ตัดแปะบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเทอร์มินัล 1 ตามที่เคยเป็นข่าวโด่งดังช่วงปี 2561-2564
6. สรุป
ในพิธีเปิดอาคารที่สำคัญดังเช่น SAT-1 ในสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงจะต้องนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่อวย ไม่แขวะผู้ใดผู้หนึ่งโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง เพราะจะทำให้การเขียนประวัติศาสตร์การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิถูกบิดเบือนไปอย่างไม่น่าให้อภัย