วันที่ 4 ตุลาคม 2566 นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ชื่อดัง โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล (Kampanart Tansithabudhkun, M.D.) โดยมีข้อความระบุ ว่า...ทำไมต้องรีบวิเคราะห์??? คำว่าการตั้งข้อสงสัย กับการวิเคราะห์ เหมือนกันหรือ?

หลังจากที่ติดตามข่าวเรื่องการก่อคดีอุกฉกรรจ์ซึ่งเป็นข่าวดังของบ้านเมืองเราเมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา มีสื่อหลายช่องพยายาม จะวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับเรื่องพฤติการณ์แห่งคดี สาเหตุของการก่อคดีและอะไรต่างๆมากมาย สถานีโทรทัศน์บางช่องก็นำเสนอเฉพาะข้อมูลความคืบหน้าของการดำเนินงานซึ่งผมคิดว่าอันนี้ก็ไม่เป็นไรถือว่าโอเคพวกเราก็ติดตามด้วยใจจดใจจ่อ

ในขณะที่สื่อบางสำนักก็พยายามจะใช้คำว่า"วิเคราะห์สถานการณ์" หรือ "วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ"

ซึ่งเคยเขียนบทความนี้ไว้เมื่อ 3 ปีก่อน(9 กุมภาพันธ์ 2563) ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ 

 ต้องขอบคุณหนังสือพิมพ์สยามรัฐที่ยังกรุณาเก็บข้อความที่เคยโพสต์ไว้ได้กลับมาอ่านทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งและอยากจะนำเสนอให้หลายๆคนได้รับทราบ เผื่อเป็นความรู้สำหรับคนที่ไม่เคยได้อ่านโพสต์เก่าๆของผมนะครับ

รู้สึกตกใจและเสียใจ ที่ความคาดหวังของผมในเรื่องของการใช้ความรุนแรงในสังคมบ้านเรา ยังไม่น่าจะดีขึ้นและรู้สึกเริ่มจะมีความถี่เยอะขึ้นเรื่อยๆ...... ภาวนาทุกวันว่าอย่าให้เป็นแบบในอเมริกาเลย... แต่ท่าทางจะทัดทานไม่ไหว...

งานด้านสุขภาพจิต ยังคงเป็นงานหนักเหมือนเดิมและจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต 

.... ช่วยกันดูแลบุตรหลานของท่านดีๆนะครับ เวลาเกิดคดีขึ้นมาครั้งหนึ่ง​ มันเกิดการสูญเสียอย่างมากมายจริงๆ....

.... ขอแสดงความเสียใจ มายังครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ที่บาดเจ็บด้วยนะครับ ขอให้หายเร็วๆครับ...

ปล. เพจ Facebook นี้ ในฐานะที่ผมเป็นจิตแพทย์ขอความร่วมมือในการ Comment อย่าเพิ่งรีบตัดสินหรือก่นด่าใดๆทั้งสิ้นขอให้ติดตามข่าวอย่างละเอียดและดูแนวทางของการตรวจสอบจากหน่วยราชการ เพื่อเราจะได้เข้าใจและมีความรู้มากขึ้น

... ถ้าจะนั่งแชร์ภาพเยาวชน(ผู้ก่อเหตุ)​แล้วด่ากันไปด่ากันมาก็คงจะเหมือนกับในบทความข้างล่างที่ผมนำมาแปะไว้ให้นั่นแหละครับ... คุณก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร​ นอกเหนือจากความสะใจ แล้ววันข้างหน้ามันก็จะเกิดซ้ำๆแบบเดิมอีก 

สำหรับบางคอมเม้นท์ อาทิเช่น...เด็กสมัยนี้ความคิด ความอ่าน ไม่ได้มาจากการสอนของครอบครัว หรือของครูบาอาจายร์ แต่จะเสพจากโซเชี่ยล จากเกมส์ที่มีความรุนแรง สภาพจิตใจก็จะไม่ปกติ รักแรงเกลียดแรง น่ากลัวใจจริงๆ

ทาง นพ.กัมปนาท ได้ตอบกลับไปว่า ในบทความได้เขียนไว้แล้ว ถึงการใช้ความรุนแรงในสังคมอาจจะไม่ได้มาจากการเสพสื่ออย่างเดียว และสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังก็คือความเจ็บป่วยหรือโรคทางจิตเวชของเด็กหรือแม้กระทั่งการใช้สารเสพติดต่างๆเป็นสิ่งที่ต้องตรวจสอบและพึงระวังด้วย 

อีกทั้งการไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมออาจจะนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยซ้ำอีกและถ้ามีการเจ็บป่วยซ้ำๆบ่อยๆก็จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงหรือการก่อคดีได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นประสบการณ์จากการที่เคยทำงานที่โรงพยาบาลนิติจิตเวชครับ