เหตุการณ์ความรุนแรง เด็กชายวัย 14 ปีใช้อาวุธปืนยิงก่อเหตุที่ห้างพารากอน เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต สร้างความหวากวิตกให้กับสังคมอย่างมาก
วันนี้ “สยามรัฐออนไลน์” ขอเปิดข้อกฎหมายผู้เยาว์ฆ่าคนตายมีโทษอะไรบ้าง?
สำหรับกรณีที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้กระทำผิดแล้ว กฎหมายเห็นว่าเด็กอาจมีความรู้สึกผิดชอบอย่างจำกัด ไม่เหมือนกับกรณีที่ผู้ใหญ่เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้นกฎหมายอาญาจึงกำหนดเรื่อง ความรับผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชน ไว้เป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะในบางกรณีแม้การกระทำของเด็กจะเป็นความผิด แต่กฎหมายอาจไม่เอาโทษเลยก็ได้
เรื่องความรับผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชนนี้ ประมวลกฎหมายอาญาได้แบ่งกลุ่มอายุของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไว้ดังนี้
1. เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี สามารถกระทำความผิดทางอาญาได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ซึ่งถือว่าเด็กนั้นเป็นผู้กระทำความผิดได้ แต่กฎหมายยกเว้นโทษแก่เด็กนั้น โดยห้ามมิให้ลงโทษแก่เด็กนั้นเลยแต่ทั้งนี้หมายความว่าการกระทำของเด็กอายุไม่เกิด 10 ปี นั้น ยังเป็นความผิดกฎหมายอาญาอยู่ เพียงแต่กฎหมายไม่เอาโทษเท่านั้น โดยให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
2. เด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15 ปี กระทำความผิดอาญาได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยถือว่าเด็กนั้นอาจเป็นผู้กระทำความผิดได้ แต่อย่างไรก็ตาม เด็กในวัยนี้กฎหมายก็ยังถือว่ามีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอย่างจำกัดเช่นเดียวกัน จึงให้มีการยกเว้นโทษแก่เด็กที่กระทำ ความผิด โดยห้ามมิให้ลงโทษทางอาญาแก่เด็กนั้นเลย แต่ทั้งนี้หมายความว่า การกระทำของเด็กนั้นยังเป็นความผิดกฎหมายอาญาอยู่ เพียงแต่กฎหมายไม่เอาโทษเท่านั้น อย่างไรก็ตามสำหรับเด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15 ปี ที่กระทำความผิดนี้ กฎหมายก็เปิดช่องให้ศาลใช้ดุลพินิจที่จะใช้ "วิธีการสำหรับเด็ก"ได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำหรับปรับปรุงเด็กให้เป็นคนดี และไม่กระทำความผิดขึ้นอีกในอนาคต
วิธีการสำหรับเด็ก ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ได้แก่
(1) การว่ากล่าวตักเตือนแก่เด็กที่กระทำความผิด หรือแก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่
(2) การเรียกบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่มาทำทัณฑ์บนว่าจะระวังไม่ให้เด็กก่อเหตุร้ายขึ้นอีก
(3) การใช้วิธีการคุมประพฤติสำหรับเด็ก โดยมีพนักงานคุมประพฤติคอยควบคุมสอดส่อง
(4) ส่งตัวไปอยู่กับบุคคลหรือองค์กรการที่ยอมรับเด็กเพื่อสั่งสอนอบรม
(5) ส่งตัวไปโรงเรียนหรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก( แต่ไม่ให้อยู่จนอายุเกิน 18 ปี)
จะเห็นได้ว่า "วิธีการสำหรับเด็ก" นี้เป็นวิธีการหรือเครื่องมือที่ศาลคดีเด็กและเยาวชน หรือศาลที่พิจารณาที่เด็กกระทำความผิด จะใช้สำหรับจัดการแก่เด็กผู้กระทำผิด และแก่บิดามารดาตลอดจนผู้ปกครองซึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็กที่กระทำผิด
วิธีสำหรับเด็ก เหล่านี้ ไม่ใช่โทษตามประมวลกฎหมายอาญาเป็นแต่เพียงเครื่องมือที่มุ่งหมายให้เด็กกลับตนเป็นคนดีเท่านั้น สำหรับศาลคดีและเยาวชนนั้น ยังมีมาตรการอื่น ๆ ซึ่งกำหนดไว้เป็นพิเศษตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็ก ฯ และพระราชบัญญัติ วิธีพิจารณาคดีเด็ก ๆโดยเฉพาะอีก
3. เด็กอายุ 15 ปี ไม่เกิน 18 ปี กระทำความผิด กฎหมายถือว่ามีความรู้สึกผิดชอบตามสมควรแล้ว แต่ก็ไม่อาจถือว่ามีความรู้สึก ผิดชอบอย่างเต็มที่ เช่น กรณีผู้ใหญ่กระทำความผิด กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ โดยศาลที่พิจารณาคดีอาจเลือกลงโทษทางอาญา แก่เด็กนั้นเช่นเดียวกับกรณีคนทั่วไป (แต่ให้ลดโทษลงกึ่งหนี่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อน)หรือศาลอาจจะเลือกใช้ "วิธีการสำหรับเด็ก"อย่างที่ใช้กับเด็กอายุ 10 ปี ไม่เกิน 15ปีก็ได้
ทั้งนี้การที่ศาลจะใช้ดุจพินิจลงโทษเด็กนั้น หรือเลือกใช้ "วิธีการสำหรับเด็ก"ศาลต้องพิจารณาถึง "ความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวง เกี่ยวกับผู้นั้น"เพื่อพิจารณาว่าสมควรจะเลือกใช้วิธีใดระหว่างการลงโทษทางอาญา กับการใช้วิธีการสำหรับเด็ก และถ้าศาลเห็นสมควรลงโทษทางอาญา ศาลก็ต้องลดโทษลงกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนด้วย
4.เด็กอายุ 18 ปี ไม่เกิน 20 ปี โดยปกติแล้วผู้กระทำความผิดที่มีอายุ 18 ปี ไม่เกิน 20 ปี จะต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ศาลอาจใช้พินิจลดโทษ ให้หนึ่งในสาม หรือกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนก็ได้ หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าความรู้สึกผิดชอบของเด็กยังมีไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นเหตุ ที่พิจารณาจากตัวเด็กที่กระทำความผิดนั้นเอง