ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน ร่วมแถลงข่าวสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวงานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด โดยมีนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วยนางสาวมัลลิกา จีนาคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน ร่วมแถลงข่าว ซึ่งงานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวไทยใหญ่

เมื่อวันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. ว่าที่ ร.ต. ภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผู้อำนวยการสำนักงาน ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยนางสาวนิชากรณ์ ธาราทิพย์สกุล ลูกจ้างโครงการฯ ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน ร่วมแถลงข่าวสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวงานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด โดยมีนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วยนางสาวมัลลิกา จีนาคำ นายกเทศมนตรีเมืองแม่ฮ่องสอน ร่วมแถลงข่าว ซึ่งงานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวไทยใหญ่ ณ ห้องประชุมธารทิพย์ ดิอิมพีเรียล แม่ฮ่องสอน รีสอร์ท 

“ปอยเหลินสิบเอ็ด” เป็นภาษาไทยใหญ่ “ปอย” หมายถึง งานบุญ “เหลิน” หมายถึง เดือน “ปอยเหลินสิบเอ็ด” คือ งานบุญเดือนสิบเอ็ด หรือ งานออกพรรษานั่นเอง“งานประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ในวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 25 ตุลาคม – 6 พฤศจิกายน 2566 ตามความเชื่อของชาวไทยใหญ่ ก่อนถึงวันงานจะมีการจัดเตรียมสร้างปราสาทจำลอง ทำด้วยโครงไม้ไผ่ ประดับลวดลายด้วยกระดาษสา กระดาษสีต่าง ๆ หน่อกล้วย อ้อยและโคมไฟ ตกแต่งอย่างสวยงาม เรียกว่า "จองพารา" เพื่อใช้สมมติเป็นปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  จากนั้นก็จะยก "จองพารา" ขึ้นไว้นอกชายคา นอกรั้ว หรือบริเวณกลางลานทั้งที่บ้านและที่วัด โดยในช่วงเย็นวันที่ 27 ตุลาคม 2566 จะมีการแห่ขบวนจองพาราของแต่ละหมู่บ้านในเขตเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนซึ่งตกแต่งอย่างสวยงามพร้อมขบวนฟ้อนรำตั้งแต่บริเวณสะพานน้ำแม่ฮ่องสอน ถึงบริเวณถนนสิงหนาทบำรุง หน้าเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน และในตอนเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (29 ตุลาคม 2566) อันเป็นวันออกพรรษาตั้งแต่เช้าตรู่ประชาชนชาวไทยใหญ่ จะพร้อมใจกันตักบาตรเทโวโรหนะ บริเวณวัดพระธาตุดอยกองมู 

วันแรม 8 ค่ำ "วันก๋อยจ๊อด" อันเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลออกพรรษาจะมีพิธี "ถวายไม้เกี๊ยะ" โดยนำฟืนจากไม้เกี๊ยะ(สนภูเขา) มามัดรวมกันเป็นต้นสูง แล้วนำเข้าขบวนแห่ประกอบด้วย ฟ้อนรูปสัตว์ต่าง ๆ และเครื่องประโคมไปทำพิธีจุดถวายเป็นพุทธบูชาที่ลานวัด เป็นอันสิ้นสุดเทศกาลออกพรรษาของชาวไทยใหญ่

กำหนดการจัดงานประเพณี ดังนี้ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11    วันเปิดงาน ตรงกับวันที่ 25ตุลาคม 2566​ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11   วันแห่จองพารา  ตรงกับวันที่ 27 ตุลาคม 2566​ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11   วันตักบาตรเทโวฯ  ตรงกับวันที่ 29 ตุลาคม 2566แรม 8 ค่ำ เดือน 11    ปิดเทศกาล  ตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566

นอกจากนี้ยังมีกินกรรมวันออกพรรษาที่สำคัญของอำเภอต่าง ๆ ซึ่งมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ได้แก่ วันที่ 26 - 27 ตุลาคม 2566 ประเพณี กาดหลู่เมือง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน วันที่ 28 - 30 ตุลาคม 2566 ประเพณีออกหว่า  อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน