ป้องกันมากกว่าบรรเทา! ‘มท.4’ กำชับ ‘ปภ.’ ลุยงานเชิงรุก แจ้งคนกรุงฯสบายใจได้ ยังไร้ความเสี่ยงน้ำท่วมเมือง รับ ‘จว.เหนือตอนล่าง-อีสานน่าเป็นห่วง’ ยันบริหารจัดการเต็มที่ แม้รัฐบาลเพิ่งเข้าบริหารประเทศแค่ 2 เดือน

เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2566 เวลา17.30น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าร่วมประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง(กอปภ.ก.) ในการติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ ผ่านระบบวีดีคอนเฟอเร็นซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศว่า ได้เน้นย้ำให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทำงานด้านการป้องกันด้วย ไม่ใช่แค่ทำงานแค่บรรเทาเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าไม่ทำงานป้องกันด้วยเหตุการณ์จะเหมือนเดิมๆ ปีที่แล้วเคยเกิดอย่างไรปีนี้ก็เกิดเหมือนเดิม เช่น ปีนี้คันกั้นน้ำ หรือประตูระบายน้ำชำรุดเสียหาย ปีหน้าต้องไม่เป็นแบบนั้น เราต้องทำงานเชิงรุก ไม่ใช่ทำงานเชิงรับเหมือนที่ผ่านมา

“ขณะนี้เป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพราะเรามาตอนปลายเหตุ การบริหารจัดน้ำต้องเริ่มตั้งแต่เดือนก.ค. ไม่ใช่ไปเริ่มกักน้ำตั้งแต่เดือนพ.ค.ทั้งที่ช่วงเหล่านี้ต้องรับใช้น้ำให้หมด น้ำใหม่ก็อย่าเพิ่งกัก เพราะฉะนั้นในเดือนก.ค.ถ้าน้ำมีต้องใช้หรือปล่อยให้หมด” รมช.มหาดไทย กล่าว

นายเกรียง กล่าวต่อว่า ส่วนพื้นที่ที่ประกาศเขตภัยพิบัติ รวมถึงพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงนั้น ในภาคเหนือ ในช่วง2-3วันนี้จ.แพร่คาดว่าปริมาณน้ำจะลดลง แต่ปริมาณน้ำจะมาที่จ.สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และอุตรดิตถ์ แต่กว่าจะถึงแม้น้ำเจ้าพระยาคงอีกหลายวัน ทั้งนี้ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าจะมีพายุเข้าในช่วง2-3วันนี้ แต่ตนยังไม่มั่นในว่าพายุจะเข้าจริงหรือไม่ หากพายุเข้าคงจะมีหลายพื้นที่ที่จะต้องเจอกับปัญหา โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณร้ำในอ่างเก็บน้ำเต็มความจุเกือบทุกอ่างเก็บน้ำ

“ในกรณีของภาคอีสาน น้ำกว่า100เปอร์เซ็นต์ทุกอ่างเก็บน้ำ หากพายุเข้าปลายน้ำที่จะไหลออกแม่น้ำโขง อย่างจังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด ก็คงอยู่ใต้น้ำอีกเหมือนเดิม ขณะนี้ได้ไปประสานยังชลประทานเขต6 เหลือเพียงในลุ่มน้ำมูลน้ำยังไม่เต็มอ่าง แต่ตลอดแนวลุ่มน้ำชีอ่างเก็บน้ำเต็มหมด เริ่มจากจังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคามกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ ยังโชคดีที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังไม่สูง แต่ระดับน้ำมูลสถานีM7 สะพานเสรีประชาธิปไตยจ.อุบลราชธานีถือว่าสูงอาการสาหัสพอสมควร แต่ผมได้ประสานกับปภ.จังหวัดที่เกี่ยวข้องแล้ว” นายเกรียง กล่าว

รมช.มหาดไทย ยังกล่าวถึงปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางว่า จากที่ได้รับรายงานจ.พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปริมณฑลยังค่อนข้างน่าเป็นห่วงเกือบทุกจังหวัด แต่ยังไม่ถึงขั้นน้ำล้นตลิ่ง แต่จะเสี่ยงในพื้นที่ลุ่มต่ำ สำหรับความเสี่ยงในพื้นที่กทม. หากดูจากสถานการณ์ระดับน้ำเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว วันนี้ยังไม่มีความเสี่ยง แต่ถ้าพายุเข้าถึงจะเสี่ยง แต่เท่าที่สอบถามทางกรมอุตุฯ โอกาสที่พายุจะเข้าอีกถือว่าน้อย แต่ก็ยังมีโอกาสอยู่ ดังนั้นพื้นที่กทม.ยังสบายใจได้ อย่างไรก็ตามการรับมือก็คงจะเป็นในรูปแบบเดิม

เมื่อถามว่ารัฐบาลชุดนี้เข้ามาประชาชนคาดหวังในการบริหารจัดการน้ำ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลเราเพิ่งเข้ามาใหม่ได้เพียง2เดือน ดังนั้นมันอยู่ที่การบริหารจัดการน้ำ แต่เราก็จะดำเนินการอย่างเต็มที่