วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่ศาลาว่าการกทม. นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าจากการรับฟังเสียงคนพิการในโครงการ ประชาคมคนพิการ กรุงเทพมหานคร ได้รับข้อเสนอภายใต้แนวคิด “ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมสร้าง และร่วมขับเคลื่อน” ตามนโยบาย 5 ดี ประกอบด้วย 1.ด้านสุขภาพดี จัดตั้งหน่วยบริการอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการในสถานพยาบาลของ กทม. พัฒนาระบบสนับสนุนผู้ช่วยเหลือคนพิการ (PA) ตั้งกองทุนช่วยเหลือเคสในภาวะวิกฤติฉุกเฉิน มีสถานที่จัดบริการ รวมกลุ่มศูนย์เรียนรู้/ศูนย์บริการคนพิการฯ อย่างยั่งยืน 2.ด้านเรียนดี ให้ทุกโรงเรียนสังกัด กทม. เป็นโรงเรียนเรียนร่วมระหว่างเด็กพิการกับเด็กปกติ และครูทุกคนเป็นครูการศึกษาพิเศษ ทั้ง 50 เขต สถานศึกษามีอุปกรณ์เครื่องช่วยและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเด็กนักเรียนพิการทุกประเภท เช่น ลิฟท์ ทางลาด อักษรเบลล์ รวมทั้งมีหลักสูตรเรื่องแนวคิดเกี่ยวกับคนพิการและความพิการ เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนหนึ่งให้กับนักเรียนทุกระดับ 3.ด้านเศรษฐกิจดี สนับสนุนให้เกิดอาชีพทั้งช่องทางออนไลน์ งานฝีมือ การตลาด และการจ้างงานคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการ ตาม ม.33/35 และต่อยอดการอบรม Job Coach ให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เขต ทั้ง 50 เขต พัฒนาโอกาสและศักยภาพคนพิการเกี่ยวกับทักษะยุคใหม่ตอบโจทย์ตลาดงานคนพิการ 4.ด้านโครงสร้างดี/เดินทางดี สร้างพื้นที่ตัวอย่างในการเดินทางดีสำหรับคนพิการ เช่น บางกะปิโมเดล จัดรถเมล์ชานต่ำ รถเมล์ที่บริการคนพิการให้มากขึ้น มีอุปกรณ์เครื่องช่วยอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม เช่น ทางเท้า ป้ายรถเมล์ ป้ายสัญลักษณ์ เป็นต้น

 

5.ด้านบริหารจัดการดี กทม.จัดกลุ่มงาน หรือ ฝ่ายงานด้านคนพิการโดยเฉพาะ และจัดตั้งหน่วยประสานงานคนพิการเพื่อการประสานงานให้กับคนพิการทุกประเภท จัดระบบฐานข้อมูลด้านคนพิการ และระบบการคัดกรองคนพิการที่เกิดใหม่ในชุมชน จัดงบประมาณเฉพาะสำหรับคนพิการ และจัดสรรงบกองทุน สำหรับคนพิการเส้นเลือดฝอย รวมถึงสร้างงานวิจัยการพัฒนาแนวทางการเข้าถึงบริการระบบการคุ้มครองทางสังคมของเด็กพิการ/คนพิการ และบทบาทของเครือข่ายด้านคนพิการในเขตกรุงเทพฯ รวมถึงโครงการนำร่อง เรื่องการสร้างระบบคุ้มครองเด็กพิการและคนพิการจากการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว

 

นายภาณุมาศ กล่าวว่า ข้อเสนอทั้งหมดส่งถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้ว จากนี้ไปจะมีการประชุมร่วมกับกลุ่มประชาคมคนพิการกรุงเทพมหานคร อีกครั้ง เพื่อกำหนดนโยบายให้ชัดเจนและร่วมมือกันขับเคลื่อนต่อไป

 

ด้านนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ประชาคมคนพิการกรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อรับฟังเสียงคนพิการ และรวมคนพิการจากเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่เข้าด้วยกันตามนโยบายผู้ว่าฯกทม. มีจุดประสงค์บูรณาการและขับเคลื่อนนโยบายด้านคนพิการให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากที่ผ่านมาการเก็บข้อมูลทำได้ยากเพราะคนพิการอยู่กระจัดกระจาย แยกเป็นกลุ่มเล็กเฉพาะทาง เช่น กลุ่มออทิสติก กลุ่มทางศาสนา หรือผู้พิการส่วนบุคคลตามชุมชน จึงอาจตกสำรวจจากภาครัฐ ปัจจุบันมีการรวมเป็นกลุ่มใหญ่มากขึ้น ทำให้กทม.สามารถจัดสรรสวัสดิการและกำหนดนโยบายให้ตรงตามความต้องการของผู้พิการมากขึ้น จากนี้ไป กทม.จะมีการหารือกับประชาคมผู้พิการและปรับปรุงแนวทางบริหารจัดการนโยบายเพื่อให้สอดรับกับข้อเสนอของผู้พิการมากที่สุดตามลำดับความสำคัญและอำนาจหน้าที่