วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในโอกาสมาตรวจราชการและมอบนโยบายให้กรุงเทพมหานคร
โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับคณะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ได้มาตรวจเยี่ยมกรุงเทพมหานครมหานครในวันนี้ โดย กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษ มีประชากรลงทะเบียนกว่า 5 ล้านคน จากทั้งหมดประมาณ 10 ล้านคน มี GDP ประมาณร้อยละ 40 ของทั้งประเทศ รวมถึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างกทม.กับกระทรวงมหาดไทยจึงมีความสำคัญ ดังนี้ 1.ตามพรบ.2528 หน้าที่ของกทม.ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำกับดูแลกรุงเทพมหานครในการใช้งบประมาณต่าง ๆ ที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ โดยกทม.จัดเก็บรายได้เอง 20% ซึ่งปี 2566 กทม.เก็บได้ประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท เก็บเองประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นของส่วนกลาง โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นตัวเชื่อมระหว่างกทม.กับรัฐบาล ซึ่งหากมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีความเข้าใจกัน จะทำให้การทำงานราบรื่นขึ้น
2.กทม.ได้รับบริการจากหลายหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย เช่น โครงการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น การไฟฟ้านครหลวง เรื่อง การบำบัดน้ำเสีย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงอีกหลายหน่วยงานที่ต้องร่วมงานกับกทม. และมีการคุยในระดับผู้ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง 3.กทม.มีพื้นที่ใกล้เคียงถึง 6 จังหวัด ได้แก่ จ.นครปฐมนนทบุรี ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ซึ่งต้องบูรณาการกับกทม. ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย เช่น น้ำท่วม น้ำเสีย อากาศเสีย การจราจร ซึ่งต้องมีการกำหนดเขตแดนและบูรณาการให้ชัดเจน
ด้านนายอนุทิน กล่าวว่า กทม.มาเยี่ยมกระทรวงมหาดไทยเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ผู้ว่าฯกทม.จึงชวนมาเยี่ยมกทม.บ้างเพราะมีเป้าหมายการทำงานตรงกันอยู่แล้ว เนื่องจากทั้งตนและนายชัชชาติมาจากการคัดเลือกของประชาชน จึงมีภารกิจที่ต้องทำเพื่อประชาชนอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งการทำงาน ต้องเคารพสัญญาของผู้ว่าฯกทม.ที่ให้ไว้กับประชาชนส่วนเรื่องระยะยาวต้องคอยสนุนสนุนเป็นเรื่อง ๆ ไป ให้ผู้ที่มีหน้าที่หลายหน่วยงานมาช่วยกันเพื่อคนกรุงเทพและผู้ที่มาอาศัยในกรุงเทพมหานครมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนเรื่องอุทกภัยในกรุงเทพฯ ไม่น่าห่วง เพราะกทม. มีสำนักการระบายน้ำรับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว หาก กทม.ต้องการให้กระทรวงมหาดไทยสนับสนุนเรื่องใด ก็พร้อมสนับสนุน ส่วนภัยพิบัติในจังหวัดต่างๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดมีความตื่นตัวอยู่แล้ว ที่จะแก้ไขปัญหา ส่วนการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง
ส่วนเรื่องบีทีเอส นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องหารือต่อไป ตนมีหน้าที่ตอบสนองประชาชนทุกภาคส่วน หากทุกอย่างดำเนินไปตามกฎหมาย ตนไม่มีข้อติดขัดใด ต้องเร่งรัดให้มีการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้น โดยการแก้ไขมาตรา 44 กรณีรวมหนี้ทั้งหมดที่กทม.มีต่อบีทีเอสแลกกับการขยายสัมปทาน คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เสนอเรื่องเข้ามาได้หากทำให้เกิดความยุติธรรม ซึ่งเรื่องนี้ต้องสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เช่น กระทรวงคมนาคม เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย
ขณะที่นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม.พร้อมจ่าย หากสภากทม.อนุมัติเงินสะสมจ่ายขาด หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนคาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ต้องวิเคราะห์ ซึ่งทั้งตนและนายอนุทินไม่ได้ผู้สร้างหนี้
ส่วนเรื่องที่กทม.เสนอให้รัฐบาลอุดหนุนค่าโครงสร้าง นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องเสนอครม.อีกครั้ง ตนไม่มีสิทธิคัดค้านทุกอย่างต้องอธิบายได้ตามกฎหมาย แต่ปัจจุบันติดเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(คณะกรรมการ ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดต่อ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 12 คน ซึ่งรวมถึง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ หรือBTSC) นายคีรี กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ในฐานะกรรมการของบริษัทฯ (“BTSC และผู้บริหาร”) เกี่ยวกับกรณีการทำสัญญาให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2555 (สัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย) ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อน เพราะหากฝืนทำไปก็ไปต่อไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นใหม่ในยุคของตนและนายชัชชาติ โดยให้ผู้ว่าฯกทม.เริ่มทำใหม่ เพราะหากรับของเก่ามาแล้วมีปัญหาก็ไม่ควรทำ
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องรถไฟฟ้า มี 2 ส่วน คือ 1.คำสั่ง คสช. มาตรา 44 นั้น เป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เดินรถอย่างต่อเนื่อง โดยเอาหนี้ทั้งหมด มาแลกกับการขยายสัมปทานให้กับเอกชน 2.ส่วนหนี้ของ E&M และ O&M ซึ่ง E&M กทม.สามารถจ่ายได้ เพราะมีเงินอยู่แล้ว แต่ต้องผ่านการอนุมัติจากสภากทม.ก่อน ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการวิสามัญนำผลการศึกษามารายงานต่อที่ประชุมสภากทม.ก่อน เมื่อได้ข้อสรุปจากคณะกรรมการวิสามัญฯ กทม.จึงจะเสนอกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรีต่อไป ส่วน O&M อยู่ระหว่างการฟ้องร้อง จึงยังจ่ายไม่ได้
นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องคำสั่งคสช. มาตรา 44 ที่ต้องการให้เดินรถอย่างไร้รอยต่อ กทม.ต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง รวมถึงเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล กทม.สามารถเชิญเอกชนมาร่วมได้ แต่ดูจากตัวเลขต้นทุนแล้วเป็นเรื่องยากที่เอกชนจะยินยอม แต่หากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว และโครงการกลับมาเป็นของ กทม. สามารถเก็บค่าโดยสารได้ ต้นทุนอยู่ที่ 33 บาท ถ้าคิดค่าโดยสาร 20 บาท จะมีส่วนต่าง 13 บาท ซึ่งส่วนนี้กทม.ต้องรับผิดชอบ