"นายกฯ" ห่วงน้ำท่วม สั่งรองนายกฯ-รมต. ลงพื้นที่แก้ปัญหาด่วน มท.กำชับผู้ว่าฯเฝ้าระวัง เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบเหตุอุทกภัยเร็วที่สุด ขณะที่สุโขทัยอ่วม! สถานการณ์ยังน่าห่วง  ด้าน"โฆษกรัฐบาล" เตือน ปชช.ระวังอันตรายฝนตกหนัก มรสุมพาดผ่านแทบทุกภาค อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน  
       
     เมื่อวันที่ 1 ต.ค.66 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า (1 ต.ค.66) ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
     
กรมอุตุนิยมวิทยายังได้พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า (17 ต.ค. 66) ทุกภาคของประเทศไทย ยังคงมีฝนฟ้าคะนอง มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง พร้อมแนะข้อควรระวังในช่วงวันที่ 36 ต.ค. ขอให้ประชาชนบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ดังนี้ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม จึงขอให้ประชาชนติดตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดด้วย
       นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยนายกฯ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในหลายพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยซึ่งยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ ได้สั่งการให้รองนายกฯ รัฐมนตรีลงพื้นที่ ซึ่งขณะนี้รองนายกฯ และรัฐมนตรี กำลังอยู่ในพื้นที่อุทกภัย เร่งติดตาม กำกับการช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้นายกฯ ย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติงานในพื้นที่ กำชับเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง ให้แจ้งเตือนประชาชนทุกระยะ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะผ่านพ้น และภายหลังน้ำลด ให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนรีบช่วยเหลือประชาชน ฟื้นฟูบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ให้กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด โดยนายกฯ ขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้พี่น้องประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ผ่านพ้นสถานการณ์ไปด้วยกัน นายชัย กล่าว

     ขณะที่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ติดตามสถานการณ์น้ำ และวิเคราะห์คาดการณ์จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ โดยมี พื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 3-7 ต.ค. ดังนี้ 1.เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม ได้แก่ จ.เชียงใหม่ (อ.จอมทอง แม่แจ่ม อมก๋อย แม่วาง แม่แตง ฝาง ดอยเต่า ฮอด ดอยสะเก็ด และกัลยาณิวัฒนา)  จ.ตาก (อ.เมืองตาก ท่าสองยาง สามเงา บ้านตาก แม่ระมาด วังเจ้า อุ้มผาง แม่สอด และพบพระ) จ.กำแพงเพชร (อ.โกสัมพีนคร คลองลาน และปางศิลาทอง) จ.ลำพูน (อำเภอลี้ และทุ่งหัวช้าง) จ.แพร่ (อำเภอวังชิ้น และลอง)  จ.ลำปาง (อำเภอเถิน แม่ทะ เสริมงาม และเกาะคา) 2.เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ดังนี้ แม่น้ำวัง ได้แก่ อ.สามเงา และบ้านตาก จ.ตาก แม่น้ำยม ได้แก่ อ.สวรรคโลก ศรีนคร ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย ทุ่งเสลี่ยม และเมืองสุโขทัย  จ.สุโขทัย 

     จากการคาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น อยู่ในเกณฑ์ 1,200 - 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.00 - 1.50 เมตร

     นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ได้กำชับ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยธรรมชาติ อุทกภัย ภัยแล้ง ให้รวดเร็วที่สุด และต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบทุกระยะ โดยขณะนี้เรื่องที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุดคือสถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากทางภาคเหนือ และน้ำท่วมขังในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งต้องเฝ้าระวังและออกประกาศเตือนประชาชน หากมีความเสี่ยงต้องใช้คำสั่งอย่างเด็ดขาดเร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ทันที เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

     นอกจากนี้ได้สั่งการให้เพิ่มการติดตั้งป้ายระวังแจ้งเตือนประชาชนตามสถานที่ท่องเที่ยว อาทิ น้ำตก ลำห้วย ลำคลอง ที่เป็นแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงในการเกิดน้ำป่าไหลหลาก และหากเกิดภัยขึ้นในพื้นที่ ให้รีบจัดหาที่พักและอาหารชั่วคราวให้กับประชาชนผู้ประสบภัย จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยกระทรวงมหาดไทยยืนยันว่าจะเร่งให้การช่วยเหลือในทุกด้านเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสภาพปกติได้โดยเร็ว ทั้งนี้หากประชาชนท่านใดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย หรือพื้นที่ประสบภัยที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1567 ศูนย์ดำรงธรรม และสายด่วน 1784 โทรฟรีได้ตลอด 24 ชั่วโมงสทนช. เตือน 6 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม ช่วงวันที่ 3-7 ต.ค.นี้

     วันเดียวกัน นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ พร้อมด้วย นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือสทนช. และนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่จ.สุโขทัย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ โดยจุดแรกได้เดินทางไปตรวจประตูระบายน้ำแม่น้ำยม บ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก พร้อมร่วมประชุมเพื่อสรุปสถานการณ์และหาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจ.สุโขทัย กับนายสุชาติ ทีคะสุข ผวจ.สุโขทัย นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย นางสาวประภาพรทองปากน้ำ ส.ส.สุโขทัย  นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล ส.ส.สุโขทัย และหัวหน้าส่วนราชการ

     โดย นายสุชาติ รายงานว่า สถานการณ์น้ำในจ.สุโขทัย เริ่มมีความน่าเป็นห่วงตั้งแต่ช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เพราะมีฝนตกเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีน้ำป่าไหลมาจากจังหวัดรอบข้าง ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในจังหวัดเวลานี้ อยู่ในจุดที่ต้องเฝ้าระวัง โดยขณะนี้ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 42 ตำบล 165 หมู่บ้าน 1,365 ครัวเรือน รวมถึงมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 2,483 ไร่ ซึ่งทางจังหวัดได้เตรียมความพร้อม ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

     นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ  ที่สั่งการอย่างเร่งด่วนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างกระทรวงมหาดไทย ได้เร่งลงพื้นที่แล้ว โดยผวจ.สุโขทัย ได้รายงานสถานการณ์และสรุปในเบื้องต้นให้รับฟังแล้ว ซึ่งขณะนี้ มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 1,365 ครัวเรือน เป็นพื้นที่กว่า 62,000 ไร่ ส่วนเรื่องการช่วยเหลือชาวสุโขทัย ในเรื่องการอพยพนั้น ยังมีน้อย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ มวลน้ำ ที่ไหลมาจากจังหวัดแพร่ โดยจากรายงานปริมาณน้ำของวันนี้ เมื่อเทียบกับของเมื่อวานที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า สูงขึ้น จาก 880 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มอีก 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมวลน้ำทั้งหมด จะไหลมารวมอยู่ที่จ.สุโขทัย

     ด้าน นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม พร้อมด้วย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และผู้บริหารการรถไฟฯ เดินทางลงพื้นที่สถานีแก่งหลวง - บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ เพื่อติดตามและให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ในการกู้ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 13 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์  เชียงใหม่ ที่เกิดตกราง และการดำเนินการซ่อมแซมทางรถไฟที่ชำรุดเสียหายจากเหตุน้ำท่วม เพื่อให้สามารถกลับมาเปิดให้บริการอย่างปกติโดยเร็ว ซึ่งคาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการขบวนรถสายเหนือเป็นปกติได้อีกครั้งในช่วงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 1 ต.ค.

 การเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกฯ และรมว.คมนาคม ที่กำชับให้เร่งดูแลผู้โดยสารที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมและรถไฟตกราง โดยให้เร่งปรับปรุงทางรถไฟที่เสียหายให้กลับมาเปิดใช้เป็นปกติโดยเร็วที่สุด นายสุรพงษ์ กล่าวและว่า พร้อมกันนี้ ยังได้กำชับให้การรถไฟฯ ดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากขบวนรถด่วนพิเศษที่ 13 ตกราง โดยให้จัดบริการอาหารและน้ำดื่ม พร้อมกับจัดรถบัสขนถ่ายผู้โดยสาร อำนวยความสะดวกในการเดินทางไปยังสถานีต่างๆ ให้เกิดความรวดเร็วและปลอดภัย