หลังจากข้อบัญญัติปี 62 จ่ายค่าขยะ 80 บาทเลื่อนไม่ได้เก็บมากว่า 4 ปี โดยร่างข้อบัญญัติใหม่ฉบับนี้จะใช้เวลาทำประชาพิจารณ์ 30 วัน จากนั้นจะนำเข้าสภากทม.พิจารณาเห็นชอบและประกาศบังคับใช้ต่อไป ก็จะทำให้ข้อบัญญัติปี 62 ถูกยกเลิกไปทันที ทั้งนี้หากบ้านเรือน-หมู่บ้านจัดสรรมีการแยกขยะตามเกณฑ์ที่กทม.กำหนดก็จะสามารถจ่ายค่าขยะอัตรา 20 บาทเท่าเดิมได้

 

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยของกรุงเทพมหานครอัตราใหม่ ว่า หลังจากสภากรุงเทพมหานครได้เห็นชอบขยายเวลาจัดเก็บออกไปอีก 1 ปี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนประกาศประชาพิจารณ์ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. ... ในเว็บไซต์กรุงเทพมหานคร ในเดือนตุลาคม 2566 เป็นเวลา 30 วัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูรายละเอียดของร่างข้อบัญญัติฯ แสดงข้อคิดเห็น จะมีความคิดเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็วิพากษ์วิจารณ์ได้ เนื่องจากข้อบัญญัติฯนี้ เป็นร่างกฎหมายที่กระทบกับประชาชนทั่วไป ถ้าประชาพิจารณ์ประชาชนเห็นด้วยไม่มีปัญหาอะไร ผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะนำเข้าสภากรุงเทพมหานครพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯนี้ เมื่อสภาเห็นชอบแล้วจึงจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยกรุงเทพมหานครจะออกข้อบังคับ ระเบียบรองรับ น่าจะใช้บังคับได้ในปี 2567 

 

“ร่างข้อบัญญัติฯ ฉบับใหม่นี้ โดยหลักการค่าขยะจะลดลง จากข้อบัญญัติฯเดิมที่ออกมาปี 2562 ที่อัตราขึ้นไปเยอะ (80บาท) ซึ่งได้มีการขยายเวลาออกไปมาหลายปี ร่างใหม่นี้ราคาจะต่ำลงทั้งการเก็บขนและการกำจัด ขณะเดียวกันกรณีประชาชนได้ลงทะเบียนเพื่อแยกขยะ ก็จะเสียค่าขยะต่ำลงไปอีก ทั้งนี้ หากประชาพิจารณ์ผ่านประชาชนเห็นด้วย ไม่มีปัญหาอะไร ก็น่าจะนำเข้าสภากทม.พิจารณาได้เดือนพฤศจิกายน เมื่อสภาฯเห็นชอบ ก็จะประกาศใช้ข้อบัญญัติฉบับใหม่ ยกเลิกของปี 62 ไป” รองผู้ว่าฯจักกพันธ์ุกล่าว

 

สำหรับร่างข้อบัญญัติฯ ใหม่ นายจักกพันธุ์ ให้ข้อมูลว่า มีอัตราค่าธรรมเนียมในส่วน ค่าเก็บและขนมูลฝอยทั่วไป แยกเป็น 1. ค่าเก็บและขนมูลฝอยทั่วไป เป็นรายเดือน กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร เดือนละ 30 บาท , กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกําหนด เดือนละ 10 บาท , กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งเกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร ให้คิดเป็นหน่วยทุกๆ 20 ลิตร ในอัตราต่อหน่วย หน่วยละ 60 บาท และ กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งเกิน 1 ลูกบาศก์เมตร ให้คิดเป็นหน่วยทุก ๆ 1 ลูกบาศก์เมตร ในอัตราต่อหน่วย หน่วยละ 3,250 บาท 2. ค่าเก็บและขนมูลฝอยทั่วไป เป็นครั้งคราว กรณีที่มีปริมาณไม่เกิน 500 ลิตร ครั้งละ 125 บาท , กรณีที่มีปริมาณเกิน 500 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร ครั้งละ 180 บาท และ กรณีที่มีปริมาณเกิน 1 ลูกบาศก์เมตร ให้คิดเป็นหน่วย ทุกๆ 1 ลูกบาศก์เมตร อัตราหน่วยละ 245 บาท  

 

ส่วน ค่ากําจัดมูลฝอยทั่วไป แยกเป็น 1. ค่ากําจัดมูลฝอยทั่วไป เป็นรายเดือน กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร เดือนละ 30 บาท , กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งไม่เกิน 20 ลิตร และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกําหนด เดือนละ 10 บาท , กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งเกิน 20 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร ให้คิดเป็นหน่วยทุกๆ 20 ลิตร ในอัตราต่อหน่วย หน่วยละ 60 บาท และ กรณีที่มีปริมาณวันหนึ่งเกิน 1 ลูกบาศก์เมตร ให้คิดเป็นหน่วยทุก ๆ 1 ลูกบาศก์เมตร ในอัตราต่อหน่วย หน่วยละ 4,750 บาท 2. ค่ากําจัดมูลฝอยทั่วไป เป็นครั้งคราว กรณีที่มีปริมาณไม่เกิน 500 ลิตร หน่วยละ 130 บาท , กรณีที่มีปริมาณเกิน 500 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร หน่วยละ 190 บาท และ กรณีที่มีปริมาณเกิน 1 ลูกบาศก์เมตร ให้คิดเป็นหน่วย ทุกๆ 1 ลูกบาศก์เมตร หน่วยละ 250 บาท 

 

รองผู้ว่าฯ จักกพันธ์ุกล่าวสรุปว่า บ้านเรือนทั่วไป หรือ หมู่บ้านจัดสรร/ชุมชนต่างๆ จะคิดค่าธรรมเนียมใน 2 รูปแบบคือ คิดค่าเก็บขน 30 และค่ากำจัด 30 รวม 60 บาท แต่หากบ้านเรือนมีการคัดแยกขยะ หมู่บ้าน/ชุมชน มีที่พักรวมและคัดแยกขยะตามเงื่อนไข จะคิดเท่าเดิมคือ 20 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติฯปี 62 ที่คิดค่าเก็บขน 40 และค่ากำจัด 40 รวม 80 บาท ก็จะลดลง แต่หากประชาชนร่วมกันคัดแยกขยะ บ้านไหนหมู่บ้านชุนชนไหนทำตามเงื่อนไข กรุงเทพมหานครก็เก็บอัตราเดิม 20 บาท โดยจะต้องมีการลงทะเบียนถูกต้องกับสำนักงานเขต ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าไปดูรายละเอียดร่างข้อบัญญัติฯ ใหม่ได้ในเดือนตุลาคม 2566