“ธรรมนัส” ลุยติดตามสถานการณ์น้ำ จ.แพร่ พร้อมเร่งรัดสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แย้ตอนบน เพื่อประโยชน์ ปชช.ในพื้นที่ ก่อนไปให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพบรรเทาเดือดร้อนผู้ประสบอุทกภัย จ.สุโขทัย

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เวลาประมาณ 14.00 น.ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมรับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชน และแจกถุงยังชีพแก่พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัย ณ อ่างเก็บน้ำแม่แย้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.แพร่   

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำแม่แย้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2527 เป็นโครงการตามความจำเป็นของราษฎร ให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง มีวัตถุประสงค์  คือ 1) ใช้น้ำเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้เสริมการเพาะปลูกในฤดูฝน และการปลูกพืชในฤดูแล้ง 2) เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ สำหรับอุปโภค - บริโภคของราษฎร 3) เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้ราษฎรใช้บริโภค และมีรายได้จากการประมงเพิ่มเติมจากการเกษตรกรรม 4) เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของราษฎรในบริเวณใกล้เคียง และ 5) เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ เพื่อบรรเทาการเกิดอุทกภัย สามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก 5,000 ไร่

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดแพร่ เกิดจากฝนตกหนักหลายที่ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ทำให้เกิดน้ำไหลป่าไหลหลากเป็นปริมาณมากทำให้น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.สูงเม่น อ.เด่นชัย อ.ลอง และ อ.วังชิ้น กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน จึงได้เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ พร้อมเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน   

  

อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายกรมชลประทาน ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ อาทิ การป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่ง การอำนวยความสะดวกในการผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภค การขุดลอกอ่างเก็บ อ่างเก็บน้ำแม่แย้ฯ รวมถึงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แย้ตอนบน โดยจะเร่งรัดให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่

เวลา 16.30 น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมรับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชน และแจกถุงยังชีพ แก่พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัย เนื่องจากน้ำป่าไหลหลาก ณ ประตูระบายน้ำ หาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย

ทั้งนี้ จังหวัดสุโขทัยได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. – 20 ก.ย. 66 และช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 66 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 9 อำเภอ 42 ตำบล 165 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 1,365 ครัวเรือน 2,814 คน พื้นที่ทางการเกษตร 62,483.50 ไร่