“ภูมิธรรม-สมศักดิ์-ปลอดประสพ-วรวัจน์” ร่วมถกรับมือภัยแล้งเอลนีโญ หวั่น ทำขาดน้ำยาว 3 ปี ชี้ นายกฯเศรษฐา ให้ความสำคัญมาก ชง ตั้งศูนย์สั่งการ เล็ง หยุดโครงการขนาดใหญ่ หันมาเดินหน้าโครงการเล็ก”ธนาคารน้ำใต้ดิน-ฝายแกนซอยซิเมนต์”ให้กระจายทั่ว ขีดเส้น 100 วัน มีแผนชัดเจน พร้อมเสนอตั้ง 10 คณะอนุกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนเต็มที่

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญา ของประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการฯ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองประธานกรรมการ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญาฯ เข้าร่วม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โดยนายภูมิธรรม กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ และลานีญาฯวันนี้ เพราะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมาก จึงเกิดคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งถือว่า เป็นปัญหาใหญ่ เพราะจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้น หากมีการเตรียมการรองรับที่ดี ปัญหาที่จะเกิดขึ้น ก็จะเบาบางลง และประชาชนก็จะได้รับความทุกข์น้อยลง โดยอีก 3 ปี เราอาจจะเผชิญปัญหา ซึ่งหากไม่เกิดก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเกิดเราก็มีการเตรียมไว้ทั้งหมดแล้ว โดยท่านนายกฯ ก็ประกาศชัดเจนในวันแถลงนโยบายว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพอากาศ เพราะอาจส่งผลกระทบไปถึงเรื่องเศรษฐกิจด้วย

“หวังว่าจากนี้ เราจะขับเคลื่อนงานร่วมกันไปข้างหน้า ซึ่งเรื่องภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น เป็นการคาดการณ์ แต่มั่นใจว่า มีโอกาสเกิดขึ้น ดังนั้น แนวทางการทำงาน ก็ต้องมีการปรับให้เข้ากัน โดยเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะน้ำคือชีวิต ถ้าเจอภัยแล้ง 3 ปี เราจะเหนื่อยมาก จึงต้องเข้าใจว่า เป็นภารกิจสำคัญ โดยจากนี้ เราจะหลีกเลี่ยงโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้งบประมาณมาก และมุ่งไปขับเคลื่อนโครงการขนาดเล็ก เพื่อให้กระจายไปทั่วประเทศ และเมื่อเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ก็จะกลับมาเดินหน้าโครงการใหญ่ต่อ ซึ่งอะไรทำได้ ท่านนายกฯให้ทำทันที แต่ถ้าติดขัดอะไรก็ให้รีบแก้ไข โดยผมอยากเห็นความคืบหน้า 100 วันแรก เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ” นายภูมิธรรม กล่าว

ขณะที่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เราต้องเตรียมการป้องกันภัยแล้งให้ถึงที่สุด โดยต้องมีศูนย์สั่งการ หรือ บูรณาการ ซึ่งตนขอเสนอที่ตั้งศูนย์สั่งการ ที่กระทรวงพาณิชย์ เพราะอาคารสถานที่มีความเหมาะสม ส่วนเรื่องการจัดทำงบประมาณนั้น รัฐบาลเพิ่งเข้ามาใหม่ แล้วเจอภัยแล้ง จึงอาจไม่สอดคล้องกับเรื่องที่จะทำ ตนจึงมองว่า รัฐบาลอาจขับเคลื่อนงานตามที่ต้องการไม่ได้ทั้งหมด เพราะด้วยสถานการณ์เอลนีโญ เราต้องมุ่งเน้นไปทำโครงการขนาดเล็ก เพื่อให้ทั่วถึงทั้งประเทศ เช่น โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน ฝายแกนซอยซิเมนต์ เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บน้ำ และความชุ่มชื้น ให้ปัญหาภัยแล้งเบาบางลง โดยต้องสามารถรองรับสถานการณ์ภัยแล้งได้ถึง 3 ปี นอกจากนี้ ตนมองว่า ฝ่ายวิศวะควรสรุปรายละเอียดการก่อสร้างฝายให้ชัดเจนว่ามี สัดส่วนเท่าไหร่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่ามีความแข็งแรง และใช้ได้นานกว่าฝายปกติ ดังนั้น การแก้ปัญหาตนมองว่า เราควรเน้นไปทำโครงการขนาดเล็ก เพื่อรักษาความชุ่มชื้น

ด้าน นายปลอดประสพ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันโลกเราร้อนขึ้น ส่งผลให้เกิดความแปรปรวน รวมถึงประเทศเรา มีทะเลทั้ง 2 ด้าน จึงมีความแปรปรวนสูงมากขึ้น ส่งผลด้านชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ส่วนปัญหาเอลนีโญ ก็ไม่มีใครเถียงว่าจะไม่เกิด เพียงแต่จะเกิดยาวหรือไม่ ซึ่งหากแย่สุด 3 ปีต่อเนื่อง น้ำก็จะลดลงจนขาดแคลน ดังนั้น เราต้องยอมรับความจริง และต้องเร่งเก็บน้ำ โดยวันนี้ เราต้องบริหารความเสี่ยงให้ดี ขณะเดียวกัน ตนมั่นใจว่า เอลนีโญ เกิดขึ้นแต่จะยังไม่แรงจนกว่าจะเข้าหน้าแล้ง จะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกจำนวนมาก ทั้ง ฝุ่น PM 2.5 จะรุนแรง เกิดไฟไหม้ง่าย นกจะเข้าอาศัยบ้านคนเพราะร้อน โรคระบาดต่างๆจะเกิดขึ้น ไม้ผลจะตาย พืชไร่ใช้น้ำมากจะเสียหาย ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขี้น ด้านน้ำกินน้ำใช้ ก็จะขาดแคลน โดยทั้งหมดนี้ คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ตนจึงขอเสนอ 3 มาตรการแก้ปัญหาคือ 1. ยุทธศาสตร์และเป้าหมาย โดยคณะกรรมการชุดนี้ จะเป็นเครื่องมือรัฐบาล ในการบรรเทาผลกระทบ ทั้งระยะสั้น-ยาว 2.ยุทธวิธีติดตามสถานการณ์เป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน พร้อมสร้างคลังข้อมูลให้ลึกมากขึ้น และ 3.ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อน 10 คณะ จะทำให้รัฐบาล สามารถรับมือภัยแล้งได้เป็นระบบ