ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้ระดับดอกเบี้ย 2.50% เหมาะสม ศก.ไทย รอดูปัจจัยระยะข้างหน้า

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า กนง.ได้ให้น้ำหนักกับมุมมองเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำมานานมาก จนส่งผลให้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสร้างพฤติกรรม Search for yield ดังนั้นการทำนโยบายการเงิน จะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในระยะยาวด้วย ไม่ใช่เพียงดูเฉพาะข้อมูลรายวันหรือข้อมูลระยะสั้นที่มักจะมีความผันผวนอยู่ตลอด ทั้งนี้ ธปท.ไม่ต้องการจะเป็นแหล่งที่สร้างความผันผวนให้เพิ่มมากขึ้นในตลาดการเงิน เพราะปัจจุบันความผันผวนในตลาดก็มีมากพออยู่แล้ว ซึ่งแนวโน้มข้างหน้ามองว่ามีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อระยะยาวจะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรตัดสินใจทำนโยบายการเงินจากแค่ข้อมูลเฉพาะหน้าที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดที่ 2.50% เชื่อว่าคงจะอยู่ในระดับนี้ไปอีกสักพัก โดยระดับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่หากในระยะข้างหน้า มุมมองเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กนง.ก็พร้อมที่จะ take action อย่างใดอย่างหนึ่ง ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อที่ ธปท.ยังกังวล โดยในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามคือ ปัญหาเอลนีโญ ที่จะส่งผลกระทบกับอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างมาก เพราะตะกร้าเงินเฟ้อมีสัดส่วนสินค้ากลุ่มอาหารอยู่มาก ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตต่างๆ ให้สูงขึ้น นอกจากนี้ต้องติดตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย
      
ขณะที่สถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ นายเศรษฐพุฒิ ยอมรับว่า การที่ค่าเงินบาทของไทยมีความผันผวน มีสาเหตุมาจากปัจจัยภายนอกเป็นหลักจากที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า แต่การที่เงินบาทผันผวนมากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค เป็นเพราะค่าเงินบาทมีความเชื่อมโยงกับค่าเงินหยวนและเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องการท่องเที่ยวและการส่งออก อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าสุด ไม่ใช่ทำเพื่อสะกัดเงินไหลออก และการอ่อนค่าของเงินบาท แต่เป้าหมายของการดูแลค่าเงินคือ คำนึงถึงเสถียรภาพและผลกระทบต่อเงินเฟ้อทางอ้อม