วันที่ 29 ก.ย.2566 ที่รัฐสภา นายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ฐานะอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ในหัวข้อ "บ้านเมืองไม่สงบ เมื่อไม่เคารพกฎหมาย" ถึงการแก้ไขรัฐธรรนูญ ด้วยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า มีคนสอบถามตนว่าจะลงเลือกตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่ ตนตอบว่าไม่ เพราะบ้านของตนอยู่ จ.เชียงใหม่ คะแนนส่วนใหญ่อยู่ที่ใคร การเลือกส.ส.ร.จะได้คนแบบนั้น ดังนั้นการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะไม่ได้คนที่ต้องการ เช่น มีการเลือกตั้งคนขับรถบรรทุก และตนลงสมัคร ทั้งที่ขับรถบรรทุกไม่เป็น แต่ตนถูกพบเห็นได้บ่อย เขาจึงเชื่อว่าขับได้ และถูกเลือก ต่อมาตนขับรถบรรทุกชนคนตายหมด ตนอ้างเหตุผลว่าเพราะเลือกตนเข้าไป โดยไม่ทดสอบว่าตนขับรถบรรทุกเป็นหรือไม่ ดังนั้นการตั้ง ส.ส.ร. ควรตั้งข้อสอบหรือไม่
"คนที่อ้างถึงคณะราษฎร แต่การเป็นผู้แทนสมัยนั้นต้องสอบเป็นผู้แทน ซึ่งปัจจุบันไม่มี ดังนั้นการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. ควรมีข้อสอบก่อนลงเลือกตั้ง ส.ส.ร.หรือไม่" นายเจษฎ์ กล่าว
นายเจษฎ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามมาตรา 255 ระบุว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ห้ามเปลี่ยนแปลงการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ แต่ไม่ใช่หมายรวมถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้นเหตุที่ต้องการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพราะต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่
"การแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร ผมมองว่าต้องหารือ แบบปรึกษาหารือสาธารณะไม่ใช่ตั้งคณะศึกษา แล้วยึดข้อศึกษาที่ได้เท่านั้น ดังนั้นผมหวังว่าการศึกษาจะค่อยๆ ดำเนินการ เพราะยังมีเวลาอีก 3 ปีกว่า ผ่านกระบวนการหารือาธารณะ และบางบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญต้องคุยกันให้ดี หากพบว่าการปรึกษาหารือสาธารณะมีประเด็นที่คุยกันไม่ได้ การทำประชามติควรเป็นสิ่งสุดท้ายไม่ใช่สิ่งแรก" นายเจษฎ์ กล่าว
นายเจษฎ์ ยังกล่าวถึงการวิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีบทลงโทษที่หนัก แต่ตนมองว่าต้องเล่นให้หนักๆ เพราะหากไม่มีตัวอย่างที่ว่าโดนจริง โดนตลอดไป จะทำให้เกิดความเหิมเกริมมากขึ้น แต่หากจะแก้ไขเรื่องนี้ ขอให้คุยกันให้ดี และปรับเป็นขั้นบันได เช่น ครั้งแรก ลงโทษ 10 ปี ครั้งที่สองทำอีก ลงโทษ 30 ปี และครั้งต่อไปเป็น 90 ปี เป็นต้น
ขณะที่ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. กล่าวในเวทีเดียวกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะแก้ไขประเด็นใดบ้าง ซึ่งตนมองว่าควรจะหารือในประเด็นดังกล่าวก่อน เพราะหากตั้งตั้นด้วยการแก้ไข ถือว่าอันตราย ขณะเดียวกัน ส.ส.ร.ที่จะทำหน้าที่ ตนมองว่าควรออกแบบคุณสมบัติให้ต่างจาก สส. หากสามารถอธิบายความต่างได้ เชื่อว่าจะได้รับการยินยอมให้มี ส.ส.ร. ที่เหมาะสม แต่หากอธิบายไม่ได้ ตนมองว่า ควรให้ สส.ทำหน้าที่ ในฐานะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ แก้กฎหมายได้ทุกฉบับ รวมถึงรัฐธรรมนูญ
“ผมอยากให้แก้รัฐธรรมนูญให้ผ่านกลไกรัฐสา เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยในรัฐสภา หากรัฐสภาทำไม่ดีต้องแก้ไขให้เกิดความเชื่อถือ ในฐานะเป็นศูนย์รวมอำนาจนิติบัญญัติ ควรใช้รัฐสภาก่อนจะให้องค์กรอื่นมาล้มหรือยกร่างรัฐธรรมนูญแทน” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว