บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)

การเมืองไทยช่วงหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 มาถึง ณ ปัจจุบัน ทำเอาคนท้องถิ่นใจหายใจคว่ำ ดูทิศทางการเมืองในการกระจายอำนาจไม่ถูกว่า จะไปต่ออย่างไร เพราะมีข้อสรุปยุติว่า อีลีต (Elite) ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม (Conservative) ได้ยึดอำนาจทางการเมืองไว้ได้แล้ว หลายคนดีใจที่เป็นประชาธิปไตยฝ่ายอนุรักษ์ และอีกหลายคนทำท่าเป็นห่วงว่า ประชาธิปไตยไทยจะไปต่อแบบไหน โดยเฉพาะประชาธิปไตยฝ่ายก้าวหน้า (Progressive/Liberal) ทำเอาคนท้องถิ่นเองงงๆ กับคำว่าประชาธิปไตย เพราะคำนี้ทำเอาคนท้องถิ่นหัวเสียมานานแล้ว นับตั้งแต่สมัยผู้ใหญ่ลี (2504) เป็นต้นมา มาถึงสมัยหนึ่งก็มีการประดิษฐ์วาทกรรมว่า “ประชาธิปไตยที่กินได้” หรือ “ประชาธิปไตยทุนนิยมสามานย์” ขึ้นมา เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเมืองที่แปลกๆ เพื่อการโน้มน้าว โฆษณาชวนเชื่อ หาแนวร่วม จนกระทั่งเกิดการชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาล และเกิดรัฐประหาร เป็นวงจรอุบาทว์มาแล้วหลายๆ รอบ

ประชาธิปไตยไทยโดยเฉพาะการกระจายอำนาจ ชักเข้าชักออกมาร่วม 60 ปีกว่า

ประชาธิปไตยไทยจึงก้าวแบบถอยหน้าถอยหลัง เหตุผลที่ ทำไมการเมืองประชาธิปไตยไทยชักเข้าชักออก คืออะไร มีปัจจัยใดเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง คงต้องหันมามองความเห็นต่างๆ ของคน ที่ว่าคือทั้งสองอย่าง ทั้งความเห็นด้วย และความเห็นต่างรวมๆ กัน เพราะคงไม่มีความเห็นของใครคนใดคนหนึ่งถูกต้องทั้งหมดเป็นแน่ ซึ่งอาจจะเห็นผิดหรือเห็นถูกก็ได้ เพราะในหลายๆ ความเห็นนั้นเป็น “อัตวิสัย” (Subjective) ที่เป็นความเชื่อส่วนบุคคล มักเจือปนด้วยอคติต่างๆ ไว้ด้วย ที่สำคัญก็คือ ต่างฝ่ายต่างคน ต่างมีขั้วของตัวเอง การแสดงความเห็นที่ออกมาจึงแตกต่างกันเป็นธรรมดา โดยเฉพาะคนที่ถือความเชื่อฝั่งอนุรักษ์นิยม ฝั่งอำนาจนิยม ฝั่งประชาธิปไตย ฝั่งก้าวหน้า คงคิดไม่เหมือนกัน มีอุดมการณ์ความเห็นที่ไม่ตรงกันแน่ๆ ต่างคนต่างคิด พวกไหนมีจำนวนมากกว่า มีพลังมากกว่า โดยเฉพาะพลังการถ่ายทอดสื่อสาร ก็ย่อมกระจายข่าวสารสู่สังคมโซเชียลได้มากกว่า เร็วกว่า วิญญูชนที่มีอยู่ทั่วๆ ไป ย่อมหยั่งรู้และใช้วิจารณญาณของตนเองได้ คงไม่ต้องมีใครมาชี้นำ เรียกว่า “หัวคะแนนธรรมชาติ” เพราะ อีกฝั่งหนึ่งเกรงว่าจะมีการชี้นำ และกลัวว่าเป็นการชี้นำที่ผิดไปจากความเชื่อของตน นี่ก็คือความวิตกจริตที่เกิดขึ้นในแต่ละฝั่งฝ่าย

การกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น (Decentralization) ล้มเหลวเพราะคนท้องถิ่นเองก็กระสันอยากได้อำนาจเหมือนกัน ด้วยตรรกะของการกระจายอำนาจก็คือ “การกระจายการตัดสินใจ” (Decision Making) ในเรื่องสาธารณะให้คนในท้องถิ่นได้มีบทบาท โดยมีการคัดสรรในทางเลือกต่างๆ ที่คิดว่าดีที่สุดไว้แล้ว ด้วยนวัตกรรมท้องถิ่น (Local Innovation) แห่งโลกปัจจุบันที่หลากหลาย เช่น บทบาทของคณะกรรมการชุมชน (เทศบาล), กรรมการพัฒนาเทศบาล, กรรมการติดตามประเมินผลแผนพัฒนาเทศบาล หรือแม้แต่กรรมการตรวจรับงานก่อสร้าง ถนน, ทางระบายน้ำ, สวนสาธารณะ ฯลฯ รวมทั้ง อบต. อบจ. เมืองพัทยา และ กทม.ในฐานะที่เป็นท้องถิ่น (อปท.)ด้วยกัน เป็นต้น ซึ่งทฤษฎีการปกครองท้องถิ่นต่างเห็นพ้องว่า การกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นดีที่สุด

ในการมีบทบาทหน้าที่ (Role) รวมทั้งความเห็น ข้อคิด ข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยน ฯลฯ ด้วย เหล่านี้ ย่อมเป็นผลดีต่อชุมชนในพื้นที่แน่นอน เพราะแสดงให้เห็นถึง “ความมีส่วนร่วม” (Participation) ในชุมชน ทำให้เกิดสำนึกร่วมในท้องถิ่นชุมชนนั้นๆ (Social/Organizational Commitment) ที่มีสำนึกรับผิดชอบ (Accountability) ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน (Sense of Belonging & Sense of Community) มีจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ (Ownership Quotient) เป็นสำนึกของพลเมือง เป็นสำนึกและรับผิดชอบต่อส่วนรวม (Active Citizen) แม้ในองค์กรเล็กในฐานะสมาชิกก็มีจิตสำนึกรักองค์กร (Employee Engagement) ที่นำไปสู่การเป็น “จิตอาสาสาธารณะ” (Public) หรือ อาสาสมัคร (Volunteer) ที่ถือเป็นหัวใจขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งองค์กรภาครัฐก็นำหลักการนี้มาใช้ได้เช่นกัน ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาต้องการมากในทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่หมายรวมถึง "การบริหารการพัฒนา" (Development Administration) ด้วย

นอกจากการตัดสินใจในโครงการแล้ว ที่สำคัญมากคือ ยังมีการตัดสินใจในเรื่อง “งบประมาณ” (Budgeting) ด้วย หากมองเส้นทางการเงินและบทบาทหน้าที่ จะหมายรวมถึง การจัดหารายได้, การใช้จ่าย, การติดตามประเมินผล เพื่อสะท้อนถึงความประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความบกพร่อง ปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ที่ผ่านมาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไทยประสบกับปัญหาและเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่างๆ นานา ก็เพราะว่า การบริหารราชการส่วนกลางที่ยังมีการกุมอำนาจ ในเรื่อง การอนุมัติ อนุญาต สัมปทานเอาไว้ และยังมีอำนาจแฝงในการบริหารกิจการสาธารณะ (Public Service) ต่างๆ ที่อาจส่อเสี่ยงผิดกฎหมาย ศีลธรรมจรรยา เช่น ส่วยทางหลวง, ส่วยบ่อนการพนัน, ส่วยสถานบันเทิง, ส่วยหวยเถื่อน, ส่วยวินรถรับจ้าง, ส่วยป่าไม้ (รวมส่วยทรัพยากรต่างๆ อาทิบ่อทราย, โรงโม่หิน เป็นต้น) ส่วยสินค้าข้ามชายแดน, สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ ถือเป็นจุดบอดของการรวบอำนาจอย่างมาก

เอาใจเขามาใส่ใจเรา (Sympathy & Empathy) ต่อประชาชนผู้เลือกตั้งหรือไม่

อาการชักเข้าชักออกของพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทำเอาฝ่ายประชาธิปไตยสับสนไปหมด เรียกว่าหัวหมุน ลุ้นกันใจจะขาด ทำเอาคนคิดมากคิดหลายอย่าง ว่าเป็นเกมการเมือง หรือการละคร หรือปั่นกระแสมวลชน แม้ว่าเป้าหมายสุดท้ายชัดเจน นั่นคือการให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง (Politics) ได้เป็นรัฐบาล และ นายกฯ แต่คุณจะทำอย่างไรก็ช่าง เห็นหัวอกประชาชนหรือไม่ยังจำเป็นมาก

ในท่ามกลางความสมานฉันท์ปรองดอง (reconciliation) ที่สังคมปัจจุบันปรารถนา ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของชุมชน/สังคม เป็นจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่มในสังคมที่เคยแตกแยกกัน ซึ่งควรหลีกเลี่ยงวาทกรรมแห่งความขัดแย้ง เรียกว่า “ถูกกาลเทศะ” แม้สิ่งที่พูดออกมาจะเป็นความจริง (Inconvenient Truth) ก็ตาม สังคมต้อง resilience (เด้งกลับ) อ่อนโยนปรับตัวยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับสังคมที่ disrupt อย่างรวดเร็วนี้ กล่าวคือจึงต้องมี “Sympathy & Empathy” ผู้คนในสังคมต้องมีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจซึ่งกันและกัน เรียกว่า "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" ด้วย นอกจากนี้ต้องมีทักษะ “Resilience Mindset” ที่กลายเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญของคนทำงานยุคนี้ การมีทักษะนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางด้านอารมณ์ ทำให้รับมือกับปัญหาได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสภาวะวิกฤตอย่างในปัจจุบัน ที่มีการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา จนหลายครั้งที่สิ่งที่วางแผนไว้ไม่สามารถเป็นไปได้ตามที่ตั้งใจไว้ คนที่ยืดหยุ่น พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ทั้งในเชิงแผนงาน และสภาพอารมณ์จิตใจ จึงจะอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ และเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กร และธุรกิจให้เติบโตต่อไป ปัจจุบัน Resilience ถูกนำมาใช้กับระดับทีมด้วย เรียกว่า Group resilience

พันธะใน “สัญญาประชาคม” (Social Contract) ต่อประชาชนต้องมาก่อน

ไม่ว่าคณะผู้บริหารประเทศ (คณะรัฐมนตรี : ครม.) ชุดใดๆ ก็ตามจะใช้งานกลไกของรัฐในการขับเคลื่อนนโยบาย ก็ต้องใช้บุคลากร (คน) ที่เขาไว้วางใจได้ อันเป็นที่มาของระบบอุปถัมภ์ในทางการเมือง (Patronage System) เชื่อว่าอีกไม่ช้าไม่นาน ตำแหน่งข้าราชการใหญ่ๆ ตามจุดสำคัญต่างๆ ทั้งในราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค คงได้ปรับโยกใหญ่แน่นอน ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ ที่มาจากพรรค การเมืองใด ทั้งที่มาจากยึดอำนาจ หรือไม่ได้ยึดอำนาจมาก็คิดเหมือนกันทั้งนั้น ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารของตนเป็นที่ครองใจประชาชน เรียกว่า “เป็นการหาเสียง” นั่นแหละ เพียงแต่ หากเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ย่อมมีจุดเชื่อมผูกมัดยึดโยง (Connecting Points) กับอำนาจของประชาชนได้โดยตรง เพราะ ประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งเข้ามา เพื่อให้เข้ามาบริหารตาม “สัญญาประชาคม” ที่พรรคการเมืองเหล่านั้นได้ให้สัจจะไว้กับประชาชน หากพรรคการเมืองใดไม่รักษาสัจจะคำพูดนั้น อีก 4 ปีข้างหน้าก็จะถูกลงโทษ อาจไม่ได้รับการเลือกตั้ง หรือไม่ชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวน สส.ที่มากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากคณะรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ หรือ “การสืบทอดอำนาจ” ที่มองหาจุดเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ได้ เพราะไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนเลย

การดีลต่อรองทางการเมือง (Political Bargaining) คือ การแสวงประโยชน์ร่วมกัน

ถึงแม้จะมีระบบดีแค่ไหน หากไม่ใช่พวกกัน ก็จะไม่ใช้งาน หรือไม่เลือกเอามาเป็นพวก บกพร่องนิดเดียว (ในทัศนะของตน) ก็ไม่เอา นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง ซึ่งน่ากลัวมากคือ กลุ่มผลประโยชน์ และ นักล็อบบี้ การดีลกันทางการเมือง หรือการต่อรองกันในทางการเมือง พูดกันภาษาบ้านๆ ก็คือ การแสวงหาประโยชน์จากผลประโยชน์ รวมทั้งการทับซ้อนในผลประโยชน์ต่างๆ (Conflict of Interest : COI) ทั้งการรับเหมา การประมูลงาน ในมุมมองภาพลบก็จะรวมไปถึง “เงินใต้โต๊ะ ส่วย สินบนฯ” ด้วย นานเข้านักการเมืองที่เข้าไปบริหารประเทศ เมื่อพอคุ้นชินกับกลไกระบบราชการ ต่างก็เอื้อประโยชน์พวกกัน นานวันเข้าก็กลายเป็นผู้มีอิทธิพลได้อย่างไม่ยาก เรียกว่า พวกเขาเหล่านั้นกำลังพยายาม “ดำรงสถานะตัวเองให้คงเดิมมากที่สุด” (Status Quo) แน่นอนว่า การเอื้อผลประโยชน์ให้ชนชั้นนำ (Elite) ที่มีเพียงหยิบมือ หรือมีจำนวนที่น้อยกว่า ประชาชนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ย่อมมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ทักท้วงแสดงความเห็นได้เต็มที่

ประสบการณ์การเมืองไทยที่ผ่านมามีหลายสิ่งหลายอย่างผ่านมาเยอะ ที่ผู้บริหารประเทศ (รัฐบาล) ไม่ว่าชุดใด ต้องเรียนรู้และแก้ไข ขอแค่อย่าโกหกประชาชน ในอดีตยุคก่อนๆ หัวหน้าม็อบประชาชน ม็อบเกษตรกร เมื่อได้รับเงินค่าปิดปาก (ประท้วงได้เงิน) แล้วก็เลิกถอยไปก็มี หากไม่ยอมก็ใช้วิธี “การฟ้องปิดปาก หรือการแกล้งฟ้อง” (SLAPP : Strategic Lawsuit Against Public Participation) เป็นการดำเนินคดี (โดยเฉพาะคดีอาญา) เชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนหวาดกลัว ไม่กล้าทำ หรือดำเนินกิจกรรมที่ท้าทายรัฐต่อ เป็นเทคนิคที่รัฐบาลแต่ก่อนๆ ใช้มาตลอด โดยเฉพาะรัฐบาลฝ่ายอำนาจนิยม

และในทางกลับกัน ฝ่ายที่มาประท้วงท้าทายอำนาจรัฐก็ถูกด้อยค่า หรือถูกปรามาส หรือถูกสวนย้อนกลับว่า รับจ้างมาประท้วง หรือ “หลอกใช้เด็ก” หรือเป็นเครื่องมือของ NGO หรือการเมืองของฝ่ายตรงข้ามเพื่อการล้มล้างรัฐบาลเช่นกัน

หลายคนเบื่อกับสังคมไทยที่เสื่อมถอย ยกตัวอย่างเช่น กรณี กำนัน น. นครปฐม หรือกรณี อ.ไซยาไนด์ หรือ ตร.หญิงเมียน้อย สว. ที่แสดงชัดเจนว่า สังคมที่เราอยู่ร่วมกันมาดีๆ มันบิดเพี้ยนไป นอกจากนี้ คำเก่าๆ ทางการเมืองที่ฝังหัวคนมานาน คือคำว่า “เผด็จการ, เลือกตั้ง, เผด็จการรัฐสภา” รวมทั้งนักล็อบบี้งูเห่ามาเป็นพวก เหล่านี้ ในสายตาของฝ่ายประชาธิปไตยหัวก้าวหน้าไม่ยอมรับ เพราะว่าการเลือกตั้งคือ “หมุดหมายของความเปลี่ยนแปลงตามครรลองประชาธิปไตย” และประชาชนยังมีช่องทางหรือพื้นที่อื่นๆ อีกตามระบอบประชาธิปไตยนอกจากการลงคะแนนเลือกตั้ง สส.หรือ ผู้แทนเข้าสภา มันตกอยู่ในวังวนอำนาจอะไรสักอย่าง ที่อธิบายไม่ได้ ภาษาศัพท์วิชาการสมัยใหม่เรียกลักษณะแบบนี้ว่า “รัฐพันลึก” (Deep State) ซึ่งประเทศอื่นก็มีเช่นกัน เพียงแต่อาจต่างกันไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่และประเทศไป

ไม่ว่าจะเป็น “ระบบพาไป” หรือ “ความจงใจสร้างสถานการณ์” ใดๆ ก็ตาม ยังไม่เคยปรากฏมิติใหม่ว่า ได้มีฝ่ายบริหารที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ใดๆ และ บริหารงานแบบตรงไปตรงมาทั้งหมด ประมาณว่าในดำมีขาว ในขาวต้องมีดำ จะไม่มีขาวตลอดแน่นอน ซึ่งประชาชนกำลังเฝ้ามองอย่างใจจดใจจ่ออยู่ว่า ผู้บริหารประเทศต้องมีสีขาว ตรงไปตรงมา เพื่อประโยชน์ของประชาชนที่มากกว่า (มีสีขาวมากกว่า) นี่เป็นจุดชี้ ที่จะเปลี่ยนสังคมได้ไม่ยากนัก ในภาวะวิกฤตทางการเมืองไทยเช่นนี้ ตรรกะย่อมไม่เพี้ยนบิดผัน สายน้ำย่อมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ไหลกลับ หากได้เสียงส่วนใหญ่ของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมาเกินกว่ากึ่งหนึ่ง (มากกว่า 250 คน) โดยเฉพาะเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ฝ่ายประชาธิปไตยหัวก้าวหน้า (Progressive/Liberal) แม้เป็นเพียงความหวัง แต่คาดว่าคนรุ่นใหม่เหล่านั้นคงไม่ยอมโดยง่าย เพราะพวกเขายังมีระยะเวลาและมีช่วงอายุที่ยังน้อยอยู่ เป็นความหวังอันสูงสุด ที่ประชาชนหลายคนเห็นและเชื่อเช่นนั้น