รู้จัก "ปดิพัทธ์ สันติภาดา" หลังก้าวไกลแถลงขับพ้นพรรค ขอทำหน้าที่ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์
จากกรณีพรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์กรณีให้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก เขต 1 พ้นจากสมาชิกภาพของพรรคก้าวไกลระบุว่า เรียนพี่น้องประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศ นับจากนี้ไป พรรคก้าวไกลจะมุ่งมั่นเดินหน้าทำงานเต็มที่ในฐานะฝ่ายค้าน เราจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา พร้อมกับผลักดันวาระการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า และเตรียมความพร้อมในการเป็นรัฐบาลที่ดีของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
โดยคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลจึงได้ประชุมร่วมกัน เพื่อวางแนวทางการทำงานที่รองรับเป้าหมายของพรรค ดังต่อไปนี้
1.ที่ประชุมร่วมฯ เห็นตรงกันว่า พรรคก้าวไกลควรเดินหน้าเป็น "ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์" ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยให้หัวหน้าพรรคคนใหม่ ชัยธวัช ตุลาธน รับตำแหน่ง "ผู้นำฝ่านค้านในสภาผู้แทนราษฎร" เพื่อกำกับทิศทางการทำหน้าที่ในสภาฯของฝ่ายค้าน
2.ที่ประชุมร่วมฯ เข้าใจว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะทำให้ สส.จากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 106
3.ที่ประชุมร่วมฯ รับทราบจากหัวหน้าพรรคว่า ทางคณะกรรมการบริหารพรรคได้หารือประเด็นดังกล่าวกับ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลแล้ว โดย ปดิพัทธ์ ได้แสดงความประสงค์ว่าต้องการทำหน้าที่ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เพื่อผลักดันให้สภา มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ก่อนหน้า รวมถึงเพื่อช่วยผลักดันให้กระบวนการตรวจรับอาคารรัฐสภา ซึ่งมีสัญญาก่อสร้างมูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท มีความโปร่งใส
4.ที่ประชุมร่วมฯ เห็นด้วยว่าภารกิจที่ปดิพัทธ์ ตั้งใจขับเคลื่อนจะนำไปสู่การยกระดับการทำงานของสภา และเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน แต่ที่ประชุมร่วมฯ ยังคงยืนยันถึงความสำคัญของการทำหน้าที่เป็น "ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์" ซึ่งจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หาก ปดิพัทธ์ ยังคงดำรงสถานะเดิมในฐานะรองประธานสภา จากพรรคก้าวไกล
5.ที่ประชุมร่วมฯจึงมีมติว่า ในเมื่อ ปดิพัทธ์ ยังคงยืนยันความประสงค์จะทำงานในฐานะรองประธานสภาต่อ พรรคก้าวไกลจึงจำเป็นต้องให้ปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคของพรรคก้าวไกล ตามบทบัญญัติแห่งข้อบังคับพรรคก้าวไกลและรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พรรคก้าวไกลสามารถทำหน้าที่เป็น "ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์" ได้ อันเป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงานของพรรคหลังจากนี้
6. ที่ประชุมร่วมฯหวังว่า แม้ ปดิพัทธ์ จะไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลอีกต่อไป แต่เขาจะยังขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ก่อนถูกรับเลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร และต้องวางตนเป็นกลางต่อทุกพรรคการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 80
พรรคก้าวไกลขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคน มาร่วมกับเราในการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปด้วยกัน
สำหรับ ปดิพัทธ์ ยังมีสถานะเป็น สส.และรองประธานสภาฯ คนที่ 1 อยู่ต่อไป แม้จะถูกขับพ้นพรรค เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (9) คุ้มครอง สส.ที่ถูกขับพ้นพรรค จะต้องหาสังกัดใหม่ภายใน 30 วัน โดยมาตราดังกล่าวระบุว่า กรณีที่ สส.พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่เป็นสมาชิก ตามมติของพรรคการเมืองนั้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรคและ สส.ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ถ้าหาก สส.คนที่ถูกขับพ้นพรรค ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคมีมติ สส.คนนั้นจะสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่พ้น 30 วันดังกล่าว ดังนั้นหาก สส.ที่ถูกขับออกจาพรรครีบดำเนินการย้ายเข้าพรรคใหม่ภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคมีมติขับออกจากพรรค สส.คนนั้นจะยังมีสถานะเป็น สส.ต่อไปภายใต้สังกัดพรรคการเมืองใหม่
ทั้งนี้การขับ สส.พ้นพรรคเคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยที่ผู้ที่ถูกขับยังเป็น สส.และไปสังกัดอยู่กับพรรคการเมืองใหม่ อาทิ กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ถูกขับจากพรรคพลังประชารัฐ ไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย หรืองูเห่าอนาคตใหม่ 4 คน น.ส.ศรีนวล บุญลือ นายจารึก ศรีอ่อน พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ที่ถูกขับออกจากพรรคอนาคตใหม่ และไปสังกัดอื่น
วันนี้สยามรัฐพาไปรู้จัก ปดิพัทธ์ สันติภาดา มีชื่อเล่นอ๋อง เป็นสัตวแพทย์และนักการเมืองชาวไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลสัดส่วนภาคเหนือ รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ.2562 ในสังกัดพรรคอนาคตใหม่ หลังจากที่พรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ในเวลาต่อมาได้ย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกล
ปดิพัทธ์ เกิดเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2524 อายุ 42 ปี สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ปริญญาตรีจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยศาสนศาสตร์ทรีนีตี้ ประเทศสิงคโปร์ ปดิพัทธ์ ทำงานเป็นนายสัตวแพทย์ปฏิบัติการเป็นระยะเวลาทั้งสิ้นสองปี และทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนและแก้ไขปัญหาสังคมกับสมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงปี พ.ศ.2561
ด้านงานการเมือง ปดิพัทธ์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ.2562 สังกัดพรรคอนาคตใหม่ เขต 1 จังหวัดพิษณุโลก โดยได้หมายเลข 2 เมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 โดยได้รับคะแนนเสียง 35,579 คะแนน ชนะนายเศรษฐา กิตติจารุรักษ์ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้คะแนน 23,682 คะแนน และชนะนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.3 สมัยจากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้คะแนน 18,613 คะแนน ต่อมาปดิพัทธ์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สองในปี 2566 สังกัดพรรคก้าวไกล เขต 1 จังหวัดพิษณุโลก โดยได้หมายเลข 9 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.66 โดยได้รับคะแนนเสียง 40,842 คะแนน มากเป็นอันดับหนึ่ง ทำให้ปดิพัทธ์ได้เป็น ส.ส.สมัยที่สอง
ด้านการเมือง เคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน เคยอภิปรายตีแผ่ทุจริตกองทัพ ต้นตอกราดยิงโคราช และเป็นหนึ่งในมืออภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขระบบเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังเคยเป็นสัตวแพทย์ และทำงานด้านพัฒนาเยาวชนและแก้ไขปัญหาสังคม สมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทย
โดยสาเหตุที่ ปดิพัทธ์ มาสู่เส้นทางการเมือง เนื่องจากเห็นถึงความล้มเหลวต่างๆ ทั้งระบบการเมือง ความไม่ยุติธรรม ช่องว่างระหว่างชนชั้นและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในยุคการปกครองแบบพิเศษ โดยมีความใฝ่ฝันที่อยากเห็นประชาชนทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม มีศักดิ์ศรี ประเทศมีเศรษฐกิจที่ดี ยั่งยืน แข่งขันในเวทีโลกด้วยบริบทที่เหมาะสมกับประเทศไทย ดูแลรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน