วันที่ 28 กันยายน 2566 นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 ถึง 31 ส.ค.66 เขตจตุจักรมีเป้าหมายจัดเก็บรายได้ จำนวน 715,300,000 บาท จัดเก็บได้จริง 720,040,809.08 บาท หรือร้อยละ 100.66 เป็น 1 ใน 5 อันดับสำนักงานเขตที่มีการจัดเก็บรายได้สูงสุด โดยปัจจัยหลักคือ เขตจตุจักรถือเป็นพื้นที่อาคารชุดหนาแน่นติดอันดับต้นของกรุงเทพมหานคร มีบ้านเรือนประมาณ 126,662 หลัง มีประชากรราว 155,286 คน และมีการขยายตัวด้านต่าง ๆ เช่น เป็นแหล่งพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของกทม. แหล่งรวมสถาบันการศึกษาที่สำคัญ มีพื้นที่รองรับการขยายตัวของที่อยู่อาศัยจำนวนมาก มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ สถานที่นันทนาการ และสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีระบบไฟฟ้าขนส่งมวลชน 6 ระบบเชื่อมโยงระบบคมนาคมในพื้นที่ตอนกลาง พื้นที่ฝั่งธนบุรี และพื้นที่ตอนใต้ของกทม. เป็นศูนย์กลางการคมนาคม เชื่อมโยงสถานีขนส่งสายเหนือ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน และเป็นแหล่งค้าขายย่านพาณิชยกรรมและย่านที่อยู่อาศัย

 

นายพรเลิศ กล่าวว่า ควรเริ่มจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติม ตามนโยบายผู้ว่าฯกทม. ภายใต้แนวคิดผู้ใช้น้ำมากก่อให้เกิดน้ำเสียและมลพิษมากตามไปด้วย เพื่อช่วยกันประหยัดทรัพยากรและงบประมาณจากภาษีส่วนรวม เนื่องจากกทม.สร้างโรงบำบัดน้ำเสียใช้งบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท ตลอดหลายปีผ่านมายังไม่เคยจัดเก็บรายได้ส่วนนี้ ทั้งยังต้องนำภาษีมาจ่ายค่าดำเนินการโรงบำบัดน้ำเสียปีละหลายร้อยล้านบาท ซึ่งเป็นภาษีส่วนรวม ไม่ว่าผู้นั้นจะทำน้ำเสียมากน้อยหรือไม่ก็ตาม จึงควรมีการแยกจัดเก็บภาษีส่วนนี้ตามอัตราการใช้น้ำให้ชัดเจน

 

รวมถึงการกำหนดกฎหมายให้ชัดเจนเกี่ยวกับการประเมินจัดเก็บภาษีที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ และที่ดินที่เลี่ยงภาษีโดยการปลูกพืชการเกษตรแต่ไม่ได้ทำเกษตรจริง โดยเฉพาะที่ดินว่างเปล่าหากมีการกำหนดอัตราภาษีเพิ่มจะช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์มากขึ้น อาจก่อให้เกิดการจำหน่ายหรือกระจายพื้นที่แก่ผู้ที่ต้องการมากขึ้น เนื่องจากแบกรับค่าภาษีไม่ไหว กระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ด้านอื่นที่คุ้มค่ากว่าการปล่อยให้ว่างเปล่า ซึ่งไม่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่มีบ้านเพียงหลังเดียว หรือมีที่ดินไม่มาก เพราะมีการจัดเก็บภาษีส่วนนี้น้อยอยู่แล้ว

 

นายพรเลิศ กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายยังไม่ชัดเจนในการคำนวณภาษีที่ดินที่ไม่ได้ใช้งาน จึงเกิดช่องว่างในการเลี่ยงภาษี ทำให้ภาครัฐเก็บภาษีส่วนนี้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือเก็บได้เพียง 2 ใน 3 ส่วนที่ควรจัดเก็บได้เท่านั้น ขาดรายได้ในการนำมาพัฒนาด้านอื่นจำนวนมาก สำหรับงบประมาณในการอุดหนุนและรายได้ที่มีของกทม. ในภาพรวม นายพรเลิศ มองว่า เพียงพอแล้ว ไม่มีส่วนใดที่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม มากกว่านี้ เนื่องจาก กทม.มีการพัฒนาด้านโครงสร้างเต็มจำนวนพื้นที่ รวมถึงมีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ มากพอ ควรกระจายงบประมาณเพื่อพัฒนาจังหวัดใกล้เคียงหรือจังหวัดต่าง ๆ ที่ไกลออกไปมากขึ้น เช่น ระบบรถไฟฟ้าหรือการคมนาคมด้านต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงการพัฒนา ขยายเศรษฐกิจ การสร้างงาน ที่อยู่อาศัย ลดความหนาแน่นของเมืองหลวง สร้างความเจริญทัดเทียมกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อกรุงเทพมหานครในที่สุด เช่น ด้านบริหารจัดการเมือง รายได้ และการท่องเที่ยว เป็นต้น