นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวคืบหน้านโยบายสร้างย่านจักรยาน เดินทางได้ทั่วด้วยการปั่น (Bicycle Corridor) ว่า นโยบายดังกล่าวเป็น 1 ในนโยบาย 216 ข้อ ของผู้ว่าฯกทม. ตามแนวทางของเมืองต่าง ๆ ในหลายประเทศ เช่น ลอนดอน กำหนดให้มีย่านเดินทางด้วยจักรยาน ทางเท้า เชื่อมโยงกันจากทุกทิศของเมือง ส่วนในกรุงเทพมหานคร จากการสำรวจความเป็นไปได้ พบเส้นทาง ดังนี้ ด้านทิศตะวันออก จากแนวคลองแสนแสบมุ่งหน้าทิศตะวันออก ถือเป็นเส้นทางหลักของนโยบาย ปัจจุบันสำนักการระบายน้ำมีงบประมาณดำเนินการแล้ว คาดว่าภายในปี 2567 โครงข่ายเส้นทางย่านจักรยานและทางเดินทิศตะวันออกจะแล้วเสร็จ

 

ส่วนด้านทิศเหนือ แนวถนนเลียบทางด่วน ซึ่งกทม.พยามพัฒนามานานแล้ว พบอุปสรรคคือ การตัดผ่านของถนนประมาณ 5 จุด คือ 1.แยกรามอินทรา-ถนนประดิษฐ์มนูธรรม 2.แยกประเสริฐมนูกิจ-ประดิษฐ์มนูธรรม 3.แยกลาดพร้าว-ประดิษฐ์มนูธรรม 4.แยกประชาอุทิศ-ประดิษฐ์มนูธรรม 5.แยกพระราม9-ประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งต้องมีการปรับปรุงและจัดสรรงบประมาณต่อไป รวมถึง เส้นทางเลียบคลองผดุงกรุงเกษม มีสะพานตลอดเส้นทาง 8 จุด ซึ่งต้องทำทางลอด ปัจจุบันสำนักการโยธาดำเนินการแล้ว 3 จุด อีก 5 จุดอยู่ระหว่างจัดสรรงบประมาณ หากดำเนินการแล้วเสร็จ ผู้ที่ปั่นจักรยานหรือเดินเท้า สามารถมุ่งหน้าตรงยาวตลอดแนวคลองผดุงฯได้โดยไม่ต้องผ่านแยก นอกจากนี้ จะมีการสร้างโครงข่ายทางเดินและจักรยานในระยะสุดท้ายก่อนเข้าที่พัก โรงเรียน สถานที่ทำงาน จากการสำรวจ พบจุดปรับปรุง 887 จุด จาก 243 เส้นทาง ระยะทาง 641.43 กิโลเมตร อยู่ระหว่างแต่ละเขตจัดทำงบประมาณให้ทัน ปี2568

 

ด้านนายชัชชญา ขำจันทร์ ผู้อำนวยการเขตลาดกระบัง กล่าวว่า เขตลาดกระบังเป็นหนึ่งในกลุ่มเขตด้านทิศตะวันออกที่กำลังพัฒนาเส้นทางจักรยาน จากการสำรวจพบผู้ใช้จักรยาน 2 กลุ่มคือ กลุ่มแม่บ้านทั่วไป ใช้จักรยานจากในซอยออกมาปากซอย และกลุ่มที่นำจักรยานมาปั่นที่สนามเจริญสุขมงคลจิต สุวรรณภูมิ เฉลี่ยวันละ 1,000 คน ในสนามดังกล่าวมีระยะทางให้ปั่นประมาณ 32.5 กิโลเมตร นอกจากนี้เขตลาดกระบังยังมีเส้นทางจักรยานอื่น ประกอบด้วย 1.จากสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ (ARL) ลาดกระบัง-สำนักงานเขตลาดกระบัง 2.จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)- ARL 3.จากตลาดหัวตะเข้-สจล.(เพิ่มเส้นทาง) รวมระยะทาง 16 กิโลเมตร ปัญหาที่พบจากผู้ใช้งานคือ เรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะเส้นทางที่ 2 จาก สจล.-ARL ทางค่อนข้างเปลี่ยว ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ซึ่งสำนักงานเขตกำลังเร่งปรับปรุงแก้ไข

 

นายชัชชญา กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกลุ่มเขตทิศตะวันออก 9 สำนักงานเขต ประกอบด้วย เขตบางกะปิ สะพานสูงบึงกุ่ม คันนายาว ลาดกระบัง มีนบุรี หนองจอก คลองสามวาและประเวศ รวบรวมเส้นทางจักรยานได้ 56.64 กิโลเมตรพบอุปสรรครายจุด ได้แก่ 1.เขตบึงกุ่ม เส้นทางถนนประเสริฐมนูกิจ พบ 10 จุด เรื่องป้ายบอกทางและสัญลักษณ์สำหรับจักรยาน 2.เขตบางกะปิ เส้นทางถนนลาดพร้าว 101 พบ 20 จุด เรื่องทางต่างระดับ 3.เขตประเวศ เส้นทางสุเหร่าทางควาย-บึงหนองบอน พบ 7 จุด เรื่องทางต่างระดับ 4.เขตสะพานสูง เส้นทางรามฯ155/3-127/2 พบ 19 จุด เรื่องทางเดินแคบ 5.เขตคลองสามวา เส้นทางเลียบคลองสอง-พระยาสุเรนทร์ พบ 89 จุด เรื่องทางเท้าแคบ 6.เขตมีนบุรี เส้นทางเลียบคลองแสนแสบ พบ 5 จุด เรื่ององศาทางลาด 7.เขตคันนายาว เส้นทางถนนสวนสยาม พบ 14 จุด เรื่องทางเท้าแคบ 8.เขตลาดกระบัง เส้นทาง ARL-สจล.-หัวตะเข้ พบ 9 จุด เรื่องทางต่างระดับ 9.เขตหนองจอก เส้นทางวงกลมสำนักงานเขต พบ 6 จุด เรื่องรางระบายน้ำ V โดยจะมีการแก้ไขเบื้องต้นในส่วนที่ทำได้ทันที เช่น ปรับทางลาด และส่วนที่ต้องจัดสรรงบประมาณก็จะดำเนินการต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายผู้ว่าฯกทม.