วันที่ 28 ก.ย.66 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" ระบุว่า...

จูบใครคิดว่าไม่สำคัญ

ว่าแล้ว หมอว่าจากพลิกๆไปเรื่อยๆต้องหยุดมาที่เรื่องนี้แน่

สมัยหมอเด็กๆเคยได้ยินเพลงชื่อนี้.......จูบเบาๆเท่านั้นมันทำฉันสั่นไปถึงหัวใจ เนื้อเพลงผิดถูกไปบ้างขออภัยครับ

แต่หลังจากผ่านร้อน-ฝน-หนาว มามากฤดู เริ่มตระหนักความสำคัญของ “จูบ” ขึ้นเรื่อยๆ และมาชอบใจเมื่อได้อ่านบทความของ Chip Walter ใน Scientific American Mind ฉบับพิเศษปลายปี 2009 ทั้งเล่มชื่อ “ Sexual Brain” ซึ่งเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ความรู้สึกตอบสนองทางเพศ กามารมณ์ ความผูกพันระหว่าง ชาย-หญิง หรือ เพศเดียวกัน ในแง่ของสมอง

“จูบ” นั้นมีหลายแบบ เกิดขึ้นได้ในหลายกาละเวลากลางวันแสกๆหรือในห้องมืดมิด มีจุดมุ่งหมายหรือนำไปสู่ผลตามต่างๆกัน (ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม)

การจูบไม่ว่าจะหนัก เบา นุ่มนวล หิวกระหาย ตะกรุม ตะกราม จูบแบบอายๆ รักใคร่อ่อนโยน มีเพื่อสนองความต้องการ ความอยาก (Hungers) ก่อให้เกิดปฏิกริยาทางสื่อประสาทและเคมี ซึ่งปลุกเร้าระบบสัมผัส ความตื่นเต้นทางเพศ ความรู้สึกผูกพัน เกิดแรงผลักดัน หรือ เกิดความปิติอิ่มเอมใจ และแน่นอนการตอบสนองทางกาย ทั้งในระดับที่ควบคุมได้และไม่ได้ทางระบบประสาทอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม จูบครั้งแรกอาจเป็นตัวตัดสินได้เลยว่า คนนี้ใช่เลย หรือไม่ก็ เท่านี้จบกัน

ทั้งนี้เนื่องจากความเชื่อจากผลการวิจัยระยะหลัง เช่น จากนักจิตวิทยาวิวัฒน์ (Evolutionary Psychologist) Gordon G. Gallup, Jr. จาก University at Albany, State University of New York ในการให้สัมภาษณ์กับ BBC เมื่อเดือน กันยายน 2007 ว่า “ เมื่อริมฝีปากแนบสนิทนั้นเป็นการเริ่มต้นของการสื่อสารที่สลับซับซ้อนทั้ง รส สัมผัส กลิ่น และการปรับลักษณะท่าทาง (น่าจะอุปมาเหมือนเวลาเต้นรำกันนะครับ) ดิ่งลึกลงไปจนถึงกลไกใต้จิตสำนึก จนทำให้เกิดความตั้งใจหรือตัดสินใจที่จะสานสัมพันธ์ต่อหรือไม่ นักวิทยาศาสตร์บางคนยังเชื่อว่า พฤติกรรมของการจูบอาจจะยังบ่งบอกต่อไปลึกล้ำว่า เต็มใจที่จะมีลูกด้วยกันหรือแม้กระทั่งรับที่จะแบกภาระในการเลี้ยงดูลูกในอนาคต

กระบวนการวิวัฒน์ของจูบนั้น นักสัตววิทยาของอังกฤษ Desmond Morris และ Chip Walter ได้เสนอว่า กลไกของจูบนั้นน่าจะเริ่มกระบวนท่ามาตั้งแต่ตอนที่สัตว์ประเภทลิง เช่น ซิมแพนซีป้อนอาหารให้ลูกตัวน้อย จากการที่เคี้ยวบดอาหารในปากก่อนที่จะประกบปากกับลูกส่งผ่านอาหาร และแม้แต่มนุษย์ในยามหิวโหยตั้งแต่โบราณกาลมีการปลอบประโลมลูกน้อยที่อดอยาก โดยการจูบและเป็นการแสดงความรัก ความห่วงใยจนมีการพัฒนาที่ดุเดือดยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา

สารฟีโรโมน (Pheromones) ที่เรารู้จักกันดีในสัตว์และพืชหรือแม้แต่ในแมลง ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อในการสานสัมพันธ์ (Sexual Attraction) หรือในการบ่งบอกแหล่งอาหาร อาจเป็นอีกกลไกหนึ่งในการสานสัมพันธ์ของการจูบ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่ถกเถียงว่าคนจะมีตัวรับจับสัญญาณจากฟีโรโมน เหมือนกับหนูและหมูหรือไม่ ตัวจับฟีโรโมน (Vomeronasal Organ) ในสัตว์นั้นอยู่ในตำแหน่งระหว่างจมูกกับปาก

นักชีววิทยา Sarah Woodley จาก Duquesne University ตั้งข้อสังเกตุว่าในคนน่าจะมีอวัยวะในการรับฟีโรโมนในจมูกเช่นกัน การสานสันพันธ์โดยผ่านทางชีวเคมี เกิดขึ้นได้จริง ดังเช่น สาวๆ ขณะที่อยู่ในรอบประจำเดือนระยะหนึ่งมักจะถูกดึงดูดเข้ากับกลิ่นเหงื่อของหนุ่ม ที่มียีนของระบบภูมิคุ้มกันทื่เข้ากันได้

ดังนั้น ฟีโรโมนในคนซึ่งอาจมี Androstenol ถูกขับออกมากับเหงื่อในผู้ชาย และทำให้เกิดความตื่นตัวทางเพศในผู้หญิง และฮอร์โมนในช่องคลอดของผู้หญิงชื่อ Copulins ก็สามารถเพิ่มระดับฮอร์โมน Testosterone ในผู้ชายและกระตุ้นความอยากกระหายทางเพศ

ถ้าฟีโรโมนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจูบจริง การจูบก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพของฟีโรโมนให้ยิ่งออกฤทธิ์หนักขึ้นไป และเข้ากระบวนการ เช่น ในแมลง และสัตว์อื่นๆที่นำไปสู่การร่วมรัก แพร่พันธุ์

ในที่สุด สำหรับเคมีต้องกันทางประสาทวิทยาศาสตร์ การจูบนั้นจุดกลไกของประสาทตั้งแต่เมื่อริมฝีปากใกล้จะประกบกันโดยได้รับกลิ่นและเมื่อประกบกันแล้ว ผ่านทางประสาทสัมผัส ก่อนที่จะจุดชนวนทางอารมณ์ และกายภาพผ่านทางเส้นประสาท สมองของคนมีเส้นประสาท 12 เส้น มีอย่างน้อย 5-6 เส้นที่ถูกกระตุ้นในการจูบตั้งแต่เริ่มต้นคือเส้นประสาทเบอร์ 1 (Olfactory nerve) ใช้ในการรับดมกลิ่น เบอร์ 5 (Trigeminal nerve) ในการรับสัมผัสเนื้ออุ่นเนื้อเย็นจาก ริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม และกล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวคางและขากรรไกร เบอร์ 7 (Facial nerve) ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าและแน่นอนริมฝีปาก เบอร์ 9 และ 10 (Glossopharyneal และ Vagus nerve) ควบคุมการส่งเสียง (อือ อา เป็นต้น) เบอร์ 12 (Hypoglossal nerve) ควบคุมลิ้น

แต่แท้จริงแล้วในความเห็นของหมอเองทุกเส้นน่าจะทำงานหมด เบอร์ 2 (Optic nerve) ก็ทำหน้าที่ในการจ้องมองใบหน้าและริมฝีปากของฝ่ายตรงข้ามที่จะเคลื่อนเข้าหา เบอร์ 3-4 และ 6 (ควบคุมการกลอกลูกตา) ก็อาจต้องทำงานในการระแวดระวังมองไปทั่วๆก่อนว่ามีใครอื่นๆอยู่แถวนั้นบ้าง เบอร์ 8 (เส้นประสาทหูในการรับฟังและทรงตัว)

ใครบ้างครับปฏิเสธว่าเสียงที่ได้ยินขณะจูบกันมีความหมายมาก และเมื่อจูบแล้วถ้ามีปฏิกริยาไฟช็อตเกิดขึ้นจนแทบจะยืนไม่ไหวเข่าระทวย การทรงตัวเป็นเรื่องสำคัญ เบอร์ 11 (ควบคุมการเคลื่อนไหว คอ บ่าไหล่) คงลำบากแย่นะครับ

ถ้าเอาหน้าชนกันตรงๆเวลาจูบต้องเอียงหน้าตะแคงนิดๆจึงจะเหมาะกว่า เมื่อเล็งลึกไปถึงสมอง ในสมองคนเราจะมีตำแหน่งต่างๆที่รองรับพื้นที่ของร่างกายกับตัว (Sensory Homunculus) ใน Somatosensory cortex พื้นที่ของริมฝีปากในสมองนั้นใหญ่โตมากครับ มากกว่าพื้นที่รองรับอวัยวะเช่นมือ หรือในระบบสืบพันธุ์ด้วยซ้ำ

กระบวนการจูบเดียวตกม้าตายหรือไม่ ยังขึ้นกับสารเคมีหลายชนิด Wendy L. Hill และ Carey A. Wilson จาก Lafayette College วัดระดับฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่ Oxytocin ซึ่งมีส่วนในการทำให้เกิดการไว้เนื้อเชื่อใจและ Cortisol ซึ่งหลั่งในขณะที่มีภาวะเครียด จาก 15 คู่ของนักเรียนชาย-หญิง ทั้งก่อนและหลังจูบกัน รวมทั้งก่อนและหลังที่พูดคุยกัน ซึ่งในระหว่างนั้นกุมมือซึ่งกันและกันไว้ ผลการศึกษาเป็นที่ประหลาดใจ โดยพบว่าฮอร์โมน Oxytocin หลั่งมากเฉพาะในชายเท่านั้น หลังจากจูบกันหรือพูดกันและจับมือไปด้วย ผู้วิจัยสรุปว่า ฝ่ายหญิงต้องการอะไรที่มากกว่าการจูบที่จะทำให้มีความรู้สึกผูกพันในอนาคต หรือ แม้กระทั่งสมยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์ต่อ ทั้งนี้ อาจจะต้องการบรรยากาศที่โรแมนติก ฯลฯ ร่วมด้วย

หมอเพิ่มเติมว่า ฝ่ายชายน่าจะถูกหลอกง่ายกว่าฝ่ายหญิงเมื่อถูกจูบ (ฮา) อย่างไรก็ตาม การจูบทำให้ฮอร์โมน Cortisol มีระดับลดลงทั้ง 2 ฝ่าย โดยผู้วิจัยสรุปว่า การจูบทำให้ความเครียดลดลง (แต่หมอว่าอาจเพราะว่าได้เงินตอบแทนค่าร่วมวิจัย หรือไม่ก็ไม่ต้องเข้าคลาสตามปกติ และในฝ่ายชายนั้นอยากเข้าร่วมการวิจัยแน่นอนอยู่แล้ว)

ทั้งนี้ การจูบนั้นจะก่อให้เกิดความผูกพันกันถึง “ความรัก” หรือไม่ ก็ต้องมีการทำงานของสมองในส่วนความสุขใจ ปิติ และผลักดัน ให้สานสัมพันธุ์ต่อ (Pleasure, Euphoria, Motivation) สมองส่วนนี้คือ ventral tegmental area ด้านขวา ซึ่งเป็นบริเวณด้านท้องของก้านสมองส่วนต้น และ caudate nucleus ด้านขวา โดยผ่านสารควบคุม Dopamine สมองทั้ง 2 ส่วนมีหน้าที่เป็นศูนย์ให้รางวัล (Reward Center) และเป็นที่เดียวกันกับที่ยาเสพติด โคเคน (Cocaine) ออกฤทธ์ ดังนั้น ความรักน่าจะเป็นยาที่ดีสำหรับมนุษย์นะครับ และจูบครั้งแรกครั้งเดียวบางครั้งก็ตัดสินได้เลยว่าไม่ใช่ Gallup และคณะพบว่า 59% (จากผู้ชาย 58 ราย) และ 66 % (จากผู้หญิง 122 ราย) ของผู้ร่วมวิจัยตอบว่าจูบแรกนั้นบอกได้เลยว่าอีกฝ่ายไม่ใช่ แม้จะคบหากันมาก่อนหน้าแล้วก็ตาม และเลิกกันหลังจูบแรก ความรุนแรงบดขยี้ในการจูบก็มีความหมายจากนักศึกษา 1,041 ราย ฝ่ายชายจะจูบอย่างรุนแรงล้ำลึก เพื่อเป็นการกรุยทางสู่ขั้นต่อไปของกามารมณ์ ในขณะที่ฝ่ายหญิงจะใช้การจูบเพื่อชั่งใจ หยั่งใจตนเองว่าสมควรจะคบหากับอีกฝ่ายต่อไปหรือไม่หรือพร้อมจะมีการพัฒนาในเชิงครอบครัวในอนาคตมากกว่าที่จะเป็นเจตนาทางด้านกามารมณ์อย่างเดียว ปฏิกริยาต่อไปของจูบ คือ ผลต่อร่างกาย อวัยวะภายใน หัวใจเต้นเร็ว แรงขึ้น ความดันสูงขึ้น รูม่านตาขยาย หอบหายใจลึก ฯลฯ

ดังที่เราทราบกัน

พฤติกรรมในระหว่างจูบก็มีความหมาย เคยสังเกตุไหมครับว่าขณะจูบเราเอียงศีรษะ คอ ไปทางไหน ขวาหรือซ้าย

ใครที่เอียงซ้ายรีบเปลี่ยนนะครับมาทางขวา Onur Gunturkun จาก Ruhr University of Bochum ในเยอรมัน สำรวจ 124 คู่ที่จูบกันในที่สาธารณะทั้งในสหรัฐ เยอรมัน และตรุกี เขาพบว่าจะเอียงไปทางขวามากกว่าซ้าย 2 เท่า ก่อนที่ริมฝีปากจะประกบกัน ทั้งนี้อาจจะเกิดจากท่าขณะอยู่ในครรภ์ระยะท้าย และในขณะที่เป็นทารก และการที่มี Behavioral asymmetry นี้อาจจะเกี่ยวเนื่องจากการควบคุมการพูดและการรับรู้พิเศษบางอย่างอยู่ที่สมองซ้าย (ซึ่งควบคุมด้านขวา) ปัจจัยการเลี้ยงดูก็อาจเกี่ยวกับการเอียงขวา โดยที่ 80% ของคุณแม่ไม่ว่าถนัดขวาหรือซ้ายก็ตาม จะอุ้มลูกแนบกับอกโดยหัวลูกไปทางซ้าย และลูกจะพลิกเข้าหาอกแม่โดยหมุนมาทางขวา

นักวิทยาศาสตร์บางคนยังกระหน่ำซ้ำเติมคนที่เอียงซ้ายเวลาจูบว่าเป็นคนที่ไม่อบอุ่น ไม่รักใครจริงจัง ทั้งนี้ การเอียงไปทางซ้ายถูกควบคุมจากสมองซีกขวา ซึ่งเป็นสมองอารมณ์ (หมอว่าน่าจะแสดงว่าเป็นอารมณ์แปรปรวน) มากกว่า จะเนื่องด้วยเหตุใดก็ตามเรื่องของ ซ้าย-ขวา ล่าสุดในปี 2006 Julian G. Greenwood และคณะจาก Stranmillis University College in Belfast, Northern Ireland พบว่า 77% ของนักเรียน 240 ราย เอียงมาทางขวา เวลาจะจูบแก้มตุ๊กตา และ 80% ของคู่หญิง-ชาย ใน Belfast ก็เอียงขวาเช่นกัน ทั้งนี้ อาจจะเป็นการเอียงขวาตามความถนัดมากกว่า

จะสรุปอย่างไรก็ตามนะครับ ถึงแม้ว่าจูบคือการประกบแค่ริมฝีปาก แต่ขั้นตอนการจูบ เริ่มตั้งแต่ ความคิด ความรู้สึกก่อนจูบ การกระทำระหว่างและที่จะเกิดขึ้นภายหลัง รวมทั้งสัมพันธภาพที่จะเกิดขึ้นในทางดีหรือไม่ดีก็ตามในอนาคต และนี่คือเรื่องหนึ่งของมนุษย์ที่ไม่น่าจะธรรมดานะครับ