วันที่ 27 กันยายน 2566 นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานครสมัยประชุมสามัญ สมัยที่สอง ครั้งที่ 2 ประจำปี 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

 

ภายหลังประธานสภากรุงเทพมหานคร นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ไม่บรรจุวาระการรายงานผลการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาโครงสร้างหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวในการประชุมสภากทม.วันนี้ตามที่มีการคาดการณ์ไว้ นายนภาพล จีระกุลสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการประสานงานร่วมสภากทม. เพื่อพิจารณาวาระการประชุมต่าง ๆ เนื่องจากมีอำนาจมาก สามารถกำหนดวาระและญัตติในการประชุมได้ ซึ่งปกติมีกระบวนการพิจารณาวาระจากประธานสภากทม.อยู่แล้ว

 

โดยเรื่องดังกล่าว ตนได้ยื่นวาระตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้รับคำตอบจากฝ่ายประธานสภากทม.ว่า เรื่องนี้ยังไม่เข้าพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานร่วมสภากทม. ประธานสภากทม.จึงยังไม่บรรจุวาระให้ ดังนั้น ตนจึงสงสัยว่า วาระการรายงานของตนเป็นการรายงานเพื่อรับทราบ ไม่ใช่เพื่อลงมติ มีจุดประสงค์ให้ฝ่ายบริหารกทม.นำแนวทางไปพิจารณาแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เป็นการรายงานเพื่อกำหนดให้ผู้บริหาร กทม.ต้องทำ โดยเฉพาะส่วนหนี้ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ถึงกำหนดชำระแล้ว ซึ่งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) มีหนังสือเรียกให้กทม.ชำระ 5 ครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีดอกเบี้ยกว่า 3% หรือวันละ 3 ล้านกว่าบาท ซึ่งหากไม่นำเรื่องเข้ารายงานสภากทม.ก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ โดยตามกฎหมาย เมื่อประชุมสรุปผลการศึกษาแล้วต้องรายงานสภากทม. หากไม่นำเข้ารายงานถือว่าผิดกฎหหมายมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครพ.ศ. 2528 และข้อ 86 ของข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร 2562

 

นายนภาพล กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้รับเหตุผลที่ชัดเจนว่าเหตุใดประธานสภากทม.จึงไม่นำวาระของตนเข้ารายงานต่อสภากทม. โดยคราวหน้าตนจะยื่นเป็นญัตติเข้าสภากทม.เพื่อให้สภากทม.พิจารณาในเรื่องนี้ตามสิทธิที่ทำได้ หากไม่ได้รับการพิจารณานำเข้าสภากทม.ตนจะฟ้องร้องตามมาตรา 157 ต่อไป

 

ด้านนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตจอมทอง กล่าวว่า ประธานสภากทม.ต้องดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมสภากทม. พ.ศ. 2562 ข้อ 23(4) จะดำเนินการเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และยังมีข้อ 38 วรรค 2 กำหนดให้ ประธานสภากทม. บรรจุญัตติที่เสนอมาเข้าระเบียบวาระการประชุมสภากทม. ภายในกำหนดเวลาอันสมควรในสมัยประชุมนั้น

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการศึกษาจากคณะกรรมการวิสามัญศึกษาระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสรุปว่า ให้ผู้บริหาร กทม. ไปเจรจากับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) เรื่องการแยกสัญญาส่วนหนี้ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ออกจากสัญญาค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ตามข้อกำหนดในสัญญาที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ทำไว้กับ บีทีเอส ข้อ6.2 ระบุว่า ส่วน E&M สามารถแยกออกมาดำเนินการได้นอกเหนือจากภาระหนี้ส่วนอื่น (ส่วน O&M ส่วนโครงสร้างและค่าจ้างเดินรถ) หากมีการชำระหนี้แล้ว สามารถโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของ กทม.ได้