เมื่อเวลา 10.40 น. วันที่ 27 ก.ย. 2566 ที่ห้องปฏิบัติการรวม กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายเศรษฐาทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง  เดินทางมารับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่ สถานการณ์น้ำท่าในลำน้ำสายหลัก และ 4 เขื่อนหลักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงกราฟเปรียบเทียบปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนทั้งประเทศและเจ้าพระยาโดยไม่ได้มีการแจ้งล่วงหน้า แต่เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยประสบกับพายุดีเปรสชัน และมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบและเกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคอีสาน โดยมีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานให้การต้อนรับ

โดยนายกฯ กล่าวสอบถามว่าจังหวัดอุบลราชธานีขณะนี้น้ำท่วมแล้วใช่หรือไม่  และในพื้นที่จังหวัดภาคอีสานที่มีจังหวัดน้ำท่วมหนัก โดยเฉพาะจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง  อย่างจังหวัดอุบลราชธานีตนเป็นห่วงเพราะน้ำท่วมทุกปีและน้ำท่วมนาน  ซึ่งประมาณอีก 10 กว่าวันตนจะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีไปดูสถานการณ์น้ำ เนื่องจากทราบว่าได้รับผลกระทบน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ตนมีภารกิจมากแต่ก็มาที่นี่เพราะเป็นห่วงเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้ง

จากนั้นนายกฯ กล่าวสอบถามถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ที่ตนเดินทางไปลงพื้นที่เมื่อ 2 -3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์น้ำดีขึ้นหรือไม่ รวมถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมในพื้นที่ภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก และนิคมอุตสาหกรรมว่าได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่ 

ขณะที่นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวยืนยันว่า จังหวัดอุบลราชธานีแม้น้ำจะท่วม แต่ตัวเมืองไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ขนาดนี้มีน้ำ  59%  จาก 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าดีขึ้น  สำหรับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี น้ำจะมาช่วงปลายเดือนก.ย.ถึงต้นเดือนต.ค. เพราะเขื่อนป่าสักมีความจุที่ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร หากน้ำมาทีเดียวก็จะเพิ่มขึ้นเยอะ ซึ่งเราก็ต้องมีการเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิด ในส่วนของลุ่มน้ำมูลขึ้นไปปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก ขณะที่ช่วงภาคเหนือลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำน้อย ช่วงบริเวณบางบาลและบางไทร  

สำหรับในพื้นที่ภาคกลาง เจ้าพระยาตอนล่าง เนื่องจากฝนตกท้ายเขื่อน โดยเฉพาะจังหวัดนครสวรรค์ที่มีปริมาณน้ำ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งเราก็ได้ใช้เขื่อนเจ้าพระยาเป็นตัวทดน้ำ และปกติ ในช่วงหน้าฝนมีการกักเก็บน้ำ แต่เนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย ซึ่งมีการกักน้ำเพิ่มขึ้น และผันน้ำออก ทางด้านขวาบริเวณคลองพระองค์เจ้าพระยาไชยานุชิต รวมถึงได้มีการส่งน้ำเข้าไปช่วยในพื้นที่การเกษตร ที่ยังไม่มีการเก็บเกี่ยวอีกประมาณ 1 ล้านไร่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย  ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคอุตสาหกรรม สถานการณ์น้ำไม่มีปัญหาอะไร

ด้านร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า สาเหตุที่จังหวัดอุบลราชธานีน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะการระบายน้ำตรงแก่งสะพือจะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือการบายพาสทางน้ำ  โดยนายกฯ กล่าวว่า ขอฝากรัฐมนตรีไปดูแลด้วยเพราะรัฐมนตรีรู้ปัญหาดีแล้ว

จากนั้นนายกฯ เดินเข้าไปยังห้องปฎิบัติการประเมินสถานการณ์น้ำ เพื่อมอบนโยบายว่า ตนมาที่นี่เพราะมีความเป็นห่วงเรื่องน้ำท่วม ซึ่งเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ตนได้พบกับสส. จังหวัดอุบลราชธานีหลายท่านซึ่งก็มีความเป็นห่วงเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย และขอฝากเฝ้าระวังในทุกจุด และหน้าจะหนักหนาอยู่ ในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงปลายเดือนต.ค.ถึงเดือนพ.ย. ก็จะต้องมีการเฝ้าระวังด้วยเหมือนกัน เข้าใจว่าทุกคนทำงานหนัก แต่เรื่องปัญหาน้ำท่วมก็จะมีผลกับเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ  

ซึ่งจากที่ได้รับฟังสถานการณ์น้ำในเขื่อนก็มีความเป็นห่วง เพราะยังมีน้ำน้อยอยู่ และควบคุมปริมาณน้ำฝนตกมาก ตกน้อยไม่ได้  จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเรื่องพายุที่กำลังจะเข้า ตามมาด้วยสถานการณ์ภัยแล้ง หากประชาชนเดือดร้อนจากน้ำท่วมก็ฝากให้ดูแลอย่างใกล้ชิด ให้ลืมเหนื่อย ลืมเหนื่อยกันหน่อยในช่วงนี้ เราต้องวางแผนระยะกลางและระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ข้างหน้า ซึ่งตนก็จะติดตามและลงพื้นที่ไปดูด้วยกัน 

“ผมทราบอยู่ว่าทุกท่านมีภารกิจเยอะ รัฐมนตรีมาใหม่ก็คงเคี่ยวหนักอยู่ เราขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ถ้าหากมีการกำชับเพิ่มขึ้น ก็ขอให้เข้าใจกัน เพราะเราเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว เพราะประชาชนเดือดร้อน ก็ขอโทษแทนรัฐมนตรีด้วยที่เคี่ยวหนัก” นายกฯกล่าว