กรมการจัดหางาน รุกหนักกวาดล้างต่างชาติแย่งงานคนไทย พบเร่ขายสินค้า-ตัดผมมากสุด ดำเนินคดี 3,464 คน
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีสื่อมวลชนตีแผ่ความทุกข์ใจของแม่ค้าชาวไทย ที่พบคนต่างชาติเปิดแผงค้าขายในตลาด เข็นรถขายน้ำผลไม้ ขับขี่จักรยานยนต์พ่วงข้างขายอาหาร หรือเข้ามาค้าขายเปิดกิจการย่านการค้าสำคัญในประเทศไทยเป็นจำนวนมากจนคล้ายแย่งอาชีพคนไทยนั้น กรมการจัดหางานขอยืนยันว่าตลอดปีที่ผ่านมากรมฯไม่เคยนิ่งนอนใจ สั่งการเจ้าหน้าที่จากกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศลงพื้นที่กวาดล้างแรงงานต่างชาติที่แย่งอาชีพคนไทย และแรงงานต่างชาติที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจในพื้นที่ และกรมการปกครอง โดยมีทั้งการสุ่มตรวจในพื้นที่ย่านการค้าแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ย่านเยาวราช ห้วยขวาง แยกราชประสงค์ ตลาดหทัยมิตร ถนนจันทร์ และจังหวัดที่พบคนต่างชาติเป็นจำนวนมาก อาทิ จังหวัดนนทบุรี เชียงใหม่ ชลบุรี นครปฐม และระนอง รวมทั้งในพื้นที่ที่มีการแจ้งเบาะแสร้องทุกข์โดยประชาชน หรือสื่อมวลชน
ทั้งนี้ทำให้ปีงบประมาณ 2566 (วันที่ 1 ตุลาคม 2565-25 กันยายน 2566) มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการทั่วประเทศที่จ้างแรงงานต่างชาติแล้ว จำนวน 53,732 แห่ง ดำเนินคดี 1,587 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติแล้ว จำนวน 528,683 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 3,464 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 1,850 คน กัมพูชา 636 คน ลาว 562 คน เวียดนาม 145 คน และสัญชาติอื่นๆ 271 คน ซึ่งพบเป็นความผิดแย่งอาชีพคนไทยทั้งสิ้น 1,634 คน โดยจังหวัดที่พบนายจ้าง สถานประกอบการและแรงงานต่างชาติกระทำผิดมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กรุงเทพมหานคร 2.สมุทรสาคร 3.นครปฐม 4.ชลบุรี และ 5.นนทบุรี และอาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพคนไทยมากที่สุด ได้แก่ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ งานนวด และมัคคุเทศก์ตามลำดับ
นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า กรมการจัดหางานให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยผลักดันให้เกิดการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและเพียงพอต่อการขับเคลื่อนกิจการของนายจ้างในประเทศไทย พร้อมกับควบคุมให้มีจำนวนแรงงานต่างชาติเท่าที่จำเป็น และอนุญาตให้ทำเฉพาะงานที่คนไทยไม่ทำ เพื่อมิให้กระทบต่อโอกาสในการมีงานทำหรือรายได้ของคนไทย โดยแรงงานต่างชาติต้องมีเอกสารประจำตัวบุคคลและใบอนุญาตทำงานถูกต้อง รวมทั้งต้องทำงานตามสิทธิ ที่ระบุไว้ในประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ (มีทั้งสิ้น 40 งาน) ซึ่งหากคนต่างด้าวฝ่าฝืนทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ และนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี
“การลงพื้นที่ตรวจสอบดำเนินคดีอย่างเข้มงวด ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์แนวทางขออนุญาตทำงานตามกฎหมายประเทศไทย ส่งผลให้จำนวนนายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างชาติที่กระทำผิดลดลง เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแรงงานภายในประเทศเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคง และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สอดรับนโยบายสร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยการคุ้มครองแรงงานของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน” อธิบดีกรมการจัดหางงานกล่าว