วันที่ 27 ก.ย.66 ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา  ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เปิดเผยว่า ในที่ประชุมกมธ.มีมติตั้งคณะทำงานติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล  7 คน โดยตนเป็นประธาน ส่วนนายเสรี สุวรรณภานนท์ และนายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นที่ปรึกษา เพื่อติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และการเคลื่อนไหวต่อการแก้รัฐธรรมนูญทุกเรื่องทุกประเด็นทุกมิติของกระบวนการที่จะแก้ไข

โดยเฉพาะ 1.รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการทำประชามติก่อน หรือด้วยรูปแบบใด และจะใช้เวลาในการจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นเมื่อใด เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการเริ่มต้นจากการทำประชามติและมีส.ส.ร.นั้น ว่าไปแล้วจะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ถ้ารวมการเลือกตั้งส.ส.ร.ด้วย จะใช้เงินครั้งละประมาณ 4 พันล้านบาท รวมๆแล้วก็เกือบ 2 หมื่นล้านบาท คุ้มกันหรือไม่ในสภาวะเศรษฐกิจของบ้านเมืองขณะนี้
        
นายวันชัย กล่าวต่อว่า  2. เมื่อสิ้นบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญและมาตรา 272 สิ้นผลไปแล้ว มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไรที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วควรพิจารณาให้รอบคอบทุกด้านทุกมุมว่าสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้ การแก้รัฐธรรมนูญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องใดจำเป็นเร่งด่วนกับประเทศมากกว่ากัน 3.ถ้าตัดความรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญปี 60 มาจากคณะรัฐประหารได้เสียแล้ว นอกนั้นก็ไม่เห็นมีอะไร เพราะรัฐธรรมนูญปี 60 มาจากการแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญปี 40 และปี50 จึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีในระดับหนึ่ง เพียงแต่ไม่ถูกใจบางพรรคบางพวกเท่านั้น เป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า หาใช่มาจากเนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญไม่ รัฐบาลต้องประเมินให้ดี วันนี้ไม่ได้เป็นฝ่ายค้านที่อยากจะทำอะไรไปได้ทุกเรื่อง
       
"รัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นว่าประเด็นใดเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ควรจะแก้ไข ก็แก้เป็นรายมาตราไม่ดีกว่าหรือ ประหยัดทั้งเงิน ประหยัดทั้งเวลา แก้ได้ตรงจุดตรงประเด็น ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและเป็นผลดีแก่ทุกฝ่าย" นายวันชัย กล่าว