วันที่ 27 ก.ย.66 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุข้อความว่า ...
ข้อมูลการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยตรวจสอบจาก WHO (GISRS) สอดคล้องกับรายงานของกองระบาดวิทยาครับ คือ เดือนกันยายนนี้อยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างชัดเจน จาก WHO ระบุว่า %ตรวจพบไวรัสติดเชื้อจากตัวอย่างสูงถึง 35% เทียบกับเมื่อ 2 เดือนก่อนซึ่งต่ำกว่า 10% ข้อมูลที่อาจจะไม่สอดคล้องกันคือ สายพันธุ์ไวรัสที่ระบาดตอนนี้ ข้อมูลจากกองระบาดระบุว่าเป็น H1N1 pdm แต่ของ WHO แยกออกมาค่อนข้างละเอียดว่า H1N1 pdm กับ H3N2 พบในตัวอย่างประมาณครึ่งๆ โดยมี FluB อยู่เป็นส่วนน้อยกว่า (ข้อสังเกตคือ H1N1 pdm หายไปจากเมืองไทยตอนปีที่แล้ว กลับมาใหม่ตั้งแต่ต้นปีนี้และยังอยู่ถึงตอนนี้ ส่วน H3N2 ครองพื้นที่ในไทยในปีที่แล้วเกือบหมด และ ลดลงตอนต้นปี และ เพิ่งกลับมาอีกรอบไม่นานนี้ ของเก่ายังอยู่เจอของใหม่มาสมทบกันเดือนนี้)
แต่ถ้าวิเคราะห์ข้อมูลจาก WHO ดูตัวเลข H3N2 จากเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา จะเห็นว่าช่วงนี้ สัดส่วนการติดเชื้อ H3N2 ในคนไทยสูงกว่า H1N1 pdm ค่อนข้างชัดเจน สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของเชื้อในช่วงนี้จึงน่าจะเป็น H3N2 มากกว่า H1N1 pdm ไวรัสสายพันธุ์นี้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงกว่า H1N1 pdm วัคซีนต่อสายพันธุ์จะป้องกันได้น้อยกว่าเพราะครอบคลุมไม่ดี การติดเชื้อจากธรรมชาติในช่วงโควิดมีน้อยกว่าปกติ ทั้งหมดนี้อาจเป็นสาเหตุร่วมทำให้ภูมิต่อ H3N2 ของประชากร ไม่ค่อยดี คนจะติดกันเยอะในช่วงอากาศปลายฝนแบบนี้...การป้องกันตัวเองเหมือนกับที่เราใช้กับโควิดเลยครับ ไวรัสใช้ช่องทางติดเชื้อเหมือนๆกัน