สทนช. เร่งเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำลุ่มน้ำชีตอนกลาง 7 จังหวัดภาคอีสาน ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน-ลดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ

วันที่ 26 ก.ย.66 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำจังหวัดมหาสารคามและพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ว่า ปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดกลางใน จ.มหาสารคาม จำนวน 17 แห่ง ความจุ รวม 81.42 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 51.76 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63.50 %  มีปริมาณน้ำใช้การได้ 43 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังสามารถรับน้ำได้อีก 31.81 ล้าน ลบ.ม. สำหรับผลการบริหารจัดการน้ำในฤดูช่วงฤดูฝน ปี 2566 ที่ผ่านมา รวม 53.15 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นด้านเกษตร 40.90 ล้าน ลบ.ม. ด้านอุปโภค-บริโภค 6.61 ล้าน ลบ.ม. และ อื่นๆ 5.64 ล้าน ลบ.ม. ส่วนสถานการณ์น้ำของแม่น้ำชีและอ่างเก็บน้ำที่สำคัญในลุ่มน้ำชีที่ยังคงน่าเป็นห่วงและต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ เขื่อนวังยาง จ.กาฬสินธุ์ มีความจุเก็บกัก 33.59 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีปริมาณน้ำ 45.84 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 136.5 % ของความจุเก็บกัก ซึ่งโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาฯ ได้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 6 บาน เพื่อเร่งระบายน้ำ เช่นเดียวกับเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำในเขื่อน 2,021 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเกินความจุอ่าง 41 ล้าน ลบ.ม. จำเป็นต้องระบายน้ำวันละ 12.87 ล้าน ลบ.ม. 

ขณะที่เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำ 81.20 ล้าน ลบ.ม. หรือ 49.5 % ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 163.75 ล้าน ลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 44 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 จำนวน 32 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำในเขื่อน 1,390 ล้าน ลบ.ม. หรือ 57 % ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก  2,431 ล้าน ลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำใช้การได้ 809 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่ผ่านมา  จำนวน 400 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน และเตรียมแผนการรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ทันกับสถานการณ์

นายชยันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ครอบคลุมพื้นที่รวม 7 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด และอุดรธานี เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประสบปัญหาด้านน้ำหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัย ภัยแล้งซ้ำซาก ปัจจุบันมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 7.47 ล้านไร่ ขาดแคลนน้ำ จำนวน 522 ล้าน ลบ.ม./ปี แบ่งเป็น น้ำด้านการเกษตร 519 ล้าน ลบ.ม./ปี และด้านอื่นๆ 3 ล้าน ลบ.ม./ปี นอกจากนี้ยังพบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เนื่องจากระบบประปาผิวดิน และบาดาลของชุมชน มีปัญหาขาดแคลนน้ำดิบ ระบบผลิตประปาชำรุดเสียหายและการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ 
ส่วนปัญหาด้านอุทกภัย เกิดจากน้ำท่วมล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง อยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มริมน้ำชีและลำน้ำสาขาเนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าความจุลำน้ำและมีสิ่งกีดขวางการระบายน้ำ หรือได้รับผลกระทบจากท้ายน้ำที่มีระดับสูงจนไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ทัน มีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย จำนวน 0.89 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม 292 ล้าน ลบ.ม./ปี และปริมาณน้ำตอนบนของลุ่มน้ำชี 567 ล้าน ลบ.ม. รวม 859 ล้าน ลบ.ม. ความลึกน้ำท่วมเฉลี่ยประมาณ 1.20-1.76 ม. ยังรวมไปถึงปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม มีสาเหตุมาจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ น้ำเสียที่ปล่อยจากการทำการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม 

สทนช. ในฐานะหน่วยงานหลักจึงได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี สามารถแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ มีการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมถึงภาคประชาชน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสร้างความมั่นคงด้านน้ำ จากผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง จะมีแผนงานโครงการพัฒนาด้านน้ำทั้งหมดจำนวน 7,276 โครงการ ใช้งบประมาณดำเนินการรวม 64,820 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 ระยะ (ปี 2566-2580) โดยดำเนินการตามลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำในแต่ละด้าน ที่สำคัญได้คัดเลือกโครงการนำร่องเพื่อใช้เป็นต้นแบบขยายผลแต่ละด้านของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยพิจารณาโครงการที่มีความพร้อมสามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว จำนวน 13 โครงการ

“เชื่อมั่นว่าผลจากการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ตามแผนแม่บทน้ำ 20 ปี จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,321 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 0.67 ล้านไร่ และมีพื้นที่ได้รับการบรรเทาปัญหาอุทกภัย 0.68 ล้านไร่ ประชาชน 256,000 ครัวเรือนมีระบบประปาหมู่บ้านที่มีประสิทธิภาพ มีแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภคที่เพียงพอ ระบบนิเวศป่าต้นน้ำได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูอย่างเหมาะสม” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวทิ้งท้าย