วันที่ 26 ก.ย.66 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.) กล่าวภายหลังมีข่าวว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. พร้อมทนาย ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา เพื่อเอาผิดตำรวจชุดตรวจค้นบ้านพักย่านวิภาวดี 60 ว่า เป็นการค้นโดยมิชอบ โดย พล.ต.ท.ไตรรงค์ยืนยันว่าการตรวจค้นเป็นไปตามหลักกฎหมาย ตั้งแต่การขอหมายค้นและหมายจับจากศาล มีการระบุตัวตนของบุคคลตามหมายจับ รวมถึงอาชีพ ที่ไม่ได้มีการปิดบังว่าเป็นตำรวจในการแถลงต่อศาล อีกกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องระบุยศ สามารถใช้คำนำหน้านายได้ และมีหลายครั้งที่การออกหมายจับตำรวจบางคดี ต้องให้เกียรติกัน จึงปกปิดยศทางราชการ

ทั้งนี้ ยืนยันว่ามีเหตุให้เข้าค้นบ้านพัก เพราะ พ.ต.ต.ชานนท์ อ่วมทร ผู้ต้องหาที่ออกหมายจับเป็นคนที่เข้าออกภายในบ้านทั้ง 5 หลังนี้ มีชื่อผู้ต้องหาลงทะเบียนรับส่งพัสดุเป็นประจำ และมีการชำระค่าสาธารณูปโภคซึ่งเป็นเงินจากบัญชีม้า โดยไม่ทราบว่า พ.ต.ต.ชานนท์ เป็นนายตำรวจติดตามของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์  และไม่ทราบมาก่อนว่าพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักที่ตรวจค้น เพราะหมู่บ้านดังกล่าวมีการรักษาความปลอดภัยแบบระบบปิด ตำรวจจึงไม่ทราบว่ามีใครพักอยู่ภายในบ้านพักบ้าง

ส่วนกรณีที่ตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) ได้สืบสวนและออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 23 คน ตรวจค้น 30 จุดนั้น มีกำลังไม่เพียงพอจึงต้องขอกำลังสนับสนุนจากตำรวจที่ทำงานและพร้อมส่งต่อข้อมูลกันได้ โดยเฉพาะกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่มีตำรวจ ปปป. เข้าร่วมด้วย เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนการที่ใช้กำลังตำรวจพร้อมอาวุธครบมือเข้าปฏิบัติงาน เป็นผลจากการประเมินความเสี่ยง เพราะผู้ต้องหาบางคนมีประวัติคดีอาชญากรรมและคดียาเสพติด และผู้ต้องหาส่วนหนึ่งเป็นตำรวจ จึงเชื่อว่ามีอาวุธไว้ป้องกันตัว ชุดจับกุมจึงต้องเตรียมพร้อมในการปฏิบัติการ ไม่ได้มีนัยยะอื่นแอบแฝง

สำหรับตำรวจทั้ง 8 นายที่ถูกจับ จะให้ออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่นั้น ขอให้เป็นการพิจารณาของผู้บังคับบัญชา แต่ต้นสังกัดของตำรวจแต่ละนายทราบเรื่องแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งตำรวจทั้ง 8 นายยังคงให้การปฏิเสธ และไม่ขอให้การในชั้นพนักงานสอบสวน

ส่วนการขยายผลของผู้ต้องหาในเครือข่ายนี้ เตรียมพิจารณาดำเนินคดีและออกหมายเรียกมาให้ข้อมูลในพยานกับผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับผลประโยชน์และกลุ่มที่มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับบัญชีม้า 2 บัญชี เงินหมุนเวียน 260 ล้านบาท พร้อมยืนยันตามข่าวที่ออกมาว่าในกลุ่มองค์กรสื่อมวลชนและบุคคลร่วมอยู่ในกลุ่มรับผลประโยชน์ด้วย แต่ยังไม่ขอเปิดเผยจำนวน ดังนั้นจึงขอประชาสัมพันธ์ไปยังบุคคลที่รู้ว่าตนเองมีธุรกรรมการเงินเกี่ยวข้องกับบัญชีม้าเหล่านี้ ให้มาแสดงตัวเข้าให้ปากคำกับตำรวจ

ขณะที่กรณี “เฮียแต๋ม” นักธุรกิจขนส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานีและภรรยา ที่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านที่เข้าตรวจค้นทั้ง 5 หลัง และเป็นผู้จ่ายค่าส่วนกลางปีที่ผ่านมา เป็นเงิน 142,000 บาท และเป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าให้กับบ้านทั้ง 5 หลัง หลังพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ยอมรับว่าเช่าบ้านเฮียแต๋มอยู่ เดือนละ 50,000 บาท โดยอ้างว่า เป็นญาติกัน พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า เพิ่งทราบเรื่องจากสื่อมวลชน แต่เมื่อวานนี้ (25 ก.ย.) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นบ้านญาติ ไม่ได้มีการเช่า หลังจากนี้ก็จะต้องตรวจสอบว่า เฮียแต๋มมีความสัมพันธ์เครือญาติด้านไหนของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หากมีการเช่าจริงก็ต้องมีสัญญาตามกฎหมาย โดยจะต้องเรียกเฮียแต๋มมาให้ปากคำเร็วๆ นี้

ส่วนเส้นทางการเงินจะเชื่อมโยงไปถึงนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือไม่นั้น ยังไม่ขอเปิดเผย เพราะอยู่ในสำนวน แต่ยืนยันว่าการที่ใต้บังคับบัญชากระทำผิด ไม่ได้เป็นเหตุให้ต้องออกหมายเรียกผู้บังคับบัญชาของบุคคลนั้นมาสอบปากคำ แต่จะต้องมีพยานหลักฐานส่วนอื่นประกอบด้วย

นอกจากนี้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ยังเปิดเผยว่า ในแนวทางการสืบสวน ผู้ต้องหา 4 กลุ่มที่จับกุมได้นั้น ในกลุ่มผู้บริหารจัดการเว็บไซต์นั้น ประกอบด้วยตำรวจ 1 คน และพลเรือน 2 คน ส่วนผู้ต้องหาอีก 1 คน ที่เป็นทหารนั้น เป็นพลทหารประจำการเกี่ยวข้องในส่วนของกลุ่มฟอกเงินและบัญชีม้า ขณะที่ภาพรวมการยึดทรัพย์สินของกลางยึดได้ อาทิ รถยนต์หรู เครื่องเพชร ทองคำ พระเครื่อง รวมมูลค่ากว่า 143 ล้านแล้ว

ทั้งนี้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ยืนยันว่า คดีนี้ไม่ได้ทำตามกระแส หรือเป็นผลจากการเมือง แต่สืบสวนมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบพยานหลักฐานสำคัญ จนสามารถขอศาลออกหมายจับผู้ต้องหาเพิ่มเติมได้ถึง 23 หมายจับ จึงต้องรีบดำเนินการ มิฉะนั้นหากปล่อยไว้ผู้ต้องหาอาจเคลื่อนย้ายทรัพย์สินหรือหลักฐานสำคัญจนเสียรูปคดี โดยเฉพาะกลุ่มบัญชีม้าและกลุ่มผู้รับผลประโยชน์ โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ที่ตามกฎหมายต้องยึดอายัดทรัพย์สินไว้ตรวจสอบ หากพบว่าเป็นทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด ทรัพย์ดังกล่าวก็ต้องตกเป็นของแผ่นดิน พร้อมขอความเป็นธรรมให้กับชุดจับกุม ไม่ได้ทำงานเพื่อกลั่นแกล้งใคร