หมอดินอาสา คือ เกษตรกรที่เป็นตัวแทนของกรมพัฒนาที่ดิน ในพื้นที่ ซึ่งได้จัดตั้งเป็นเครือข่ายปฏิบัติงานในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ เรียกว่า หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน  หมอดินอาสาประจำตำบล  หมอดินอาสาประจำอำเภอ และหมอดินอาสาประจำจังหวัดอาสาเข้ามาช่วยกรมพัฒนาที่ดิน ดูแลรักษาทรัพยากรของท้องถิ่น  โดยปฏิบัติงานด้านการพัฒนาที่ดิน และเผยแพร่ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินในชุมชนเคียงคู่ไปกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดิน สำหรับบทบาทของหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านในด้านการเผยแพร่ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดิน คือ เป็นผู้ทำการเกษตรถูกต้องตามหลักวิชาการพัฒนาที่ดิน เป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรข้างเคียง และสามารถให้คำแนะนำ เผยแพร่ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดิน ให้แก่เพื่อนบ้านในหมู่บ้าน เป็นผู้ช่วยหรือผู้นำในการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร เป็นอาสาสมัครเกษตรที่จะคอยช่วยเหลือเมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจหรือโครงการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในพื้นที่

นายชูชาติ ตรุษเพชร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถานีพัฒนาที่ดินราชบุรี กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน ให้ความสำคัญกับหมอดินซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ เนื่องจากข้าราชการของกรมพัฒนาที่ดินมีจำนวนน้อย จึงทำให้การดำเนินงานในหลายๆพื้นที่ไม่ครอบคลุมได้อย่างทั่วถึง “หมอดินอาสา” เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่กรมพัฒนาที่ดินได้สร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาให้เป็นเสมือนอีกหนึ่งบุคลากรของกรมพัฒนาที่ดิน ปัจจุบันจังหวัดราชบุรี ซึ่งอยู่ในการดูแลของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 จังหวัดราชบุรี มีหมอดินอาสา 1,064 ราย ครอบคลุมทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมูบ้าน อย่างน้อย หมอดินอาสาจะเป็นบุคคลมีองค์ความรู้เรื่องดินในระดับพื้นที่ ได้แก่ การสำรวจดิน การปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการดินและน้ำ การอนุรักษ์ดินและน้ำ การตรวจวิเคราะห์ดินขั้นพื้นฐานด้วย Test Kid และ NPK รวมถึงการเผยเผยแพร่ไปสู่เกษตรกรในชุมชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ใกล้ชิดและเข้าถึงง่าย โดยจะมีการอบรมพัฒนาศักยภาพหมอดินอาสาในทุกๆด้านเป็นประจำทุกปี 

นายวิเชียร บุญรอด หมอดินอาสาประจำตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการเป็นหมอดินของผมคือ การอยากเรียนรู้ อยากหาประสบการณ์ ในเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ให้มีศักยภาพในการปลูกพืชให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งได้มีโอกาสได้เรียนรู้กับทางนักวิชาการจากสถานีพัฒนาที่ดินราชบุรี ก็ได้มีการเรียนรู้เรื่องดินที่หลากหลาย เช่น การลดการใช้สารเคมีด้วยการใช้เทคโนโลยีการใช้จุลินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น การทำปุ๋ยหมัก ด้วยการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 , การทำน้ำหมักชีวภาพ ด้วยการใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 เป็นต้น ซึ่งเป็นการลดต้นทุนที่สำคัญที่สุดของเกษตรกร ทั้งนี้ด้วยหน้าที่ของหมอดินอาสาจะเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินและอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่สวนก็จะเปรียบเสมือนพื้นที่ต้นแบบเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ได้เข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อนำไปใช้ต่อยอดในพื้นที่ของเขาเองเช่นกัน 

นางสมใจ แซ่ลิ้ม หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านยางคู่ ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า เมื่อก่อนดินในพื้นที่ของตนเองเป็นดินทราย มีปัญหาหนัก ไม่สามารถที่จะใช้ปลูกพืชให้มีประสิทธิภาพได้ เมื่อได้มารู้จักกับคุณวิเชียร บุญรอด หมอดินอาสาประจำตำบลยางหัก ก็ได้ทราบข้อมูลเรื่องดิน การปรับปรุงบำรุงดิน การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักเอาไว้ใช้เอง โดยใช้เทคโนโลยีจุลินทรีย์ของกรมพัฒนาที่ดิน เมื่อมีการปรับปรุงดินเรื่อยมาก็ทำให้ดินร่วนซุย มีไส้เดือนชอนไช ทำให้กายภาพของดินดีขึ้น เมื่อปลูกพืชอะไรก็ทำให้เจริญงอกงาม ผลิดอกออกผลได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันพื้นที่มีผลผลิตมากมาย ทั้งพืชผัก ทุเรียน โกโก้ ที่มีผลผลิตออกอย่างต่อเนื่อง สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านจากสถานีพัฒนาที่ดินราชบุรีอีกด้วย 

อีกหนึ่งหมอดินต้นแบบที่มีความดูความสามารถด้านการพัฒนาที่ดิน และการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ให้แก่เกษตรกรในตำบลท่าเสาอย่างมีศักยภาพ นายสมชาย แซ่ตัน หมอดินอาสาประจำตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า เมื่อ 17 ปีก่อน ตนได้เรียนรู้งานด้านการพัฒนาที่ดินจากรุ่นพี่หมอดินอาสา ของกรมพัฒนาที่ดิน ตนจึงได้มีความรักและชื่นชอบในการพัฒนาที่ดินให้มีคุณภาพ ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหมอดินอาสาประจำตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และได้เผยแพร่นวัตกรรมจากกรมพัฒนาที่ดินให้แก่เกษตรกรในพื้นที่เพื่อพัฒนาดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชได้อย่างๆกลากหลาย อาทิ การอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยวิธีกลและวิธีพืช เช่น การกักเก็บน้ำด้วยการทำคันคูรับน้ำรอบขอบเขา การปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการชะล้างพังทลายของดิน การปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเป็นพื้นที่ชะลอน้ำและยังได้ผลผลิตมาจำหน่ายตลอดทั้งปี เกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีดินดี น้ำสมบูรณ์ ก็สามารถผลิตพืชได้อย่างต่อเนื่องและมีรายได้ตลอดทั้งปี เห็นได้ชัดจากเมื่อปี พ.ศ.2562 ที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้มีพนักงานตกงาน ประชาชนไม่สามารถออกไปซื้ออาหารได้ แต่ที่สวนของผมและเกษตรกรเครือข่ายที่เข้ามาเรียนรู้งานและนำไปต่อยอดพัฒนาในสวนของตนเองนั้น มีอาหาร พืชผัก ผลไม้ให้รับประทานและจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ตลอดทั้งปี สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัว และปลดหนี้ได้อีกด้วย ผมขอขอบคุณ กรมพัฒนาที่ดิน ที่ทำให้ผมและครอบครัวมีวันนี้ครับ 

จจุบันทั่วประเทศมีหมอดินอาสาจำนวน 77,771 ราย ซึ่งกระจายอยู่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ และทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยในพื้นที่การดูแลของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 จังหวัดราชบุรี ดูแลพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรสาคร รวมเครือข่ายหมอดินทั้งหมดเป็นจำนวน 3,795 ราย ซึ่งเครือข่ายหมดดินทั้งหมดนี้จะได้รับการพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาและบริหารจัดการดิน รวมไปถึงการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างทุกวิธีเป็นประจำทุกปี