ส่งออกส.ค.พลิกบวกรอบ 11 เดือน คงทั้งปี 1-2%

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนส.ค.66 การส่งออกมีมูลค่า 24,279 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.6% จากตลาดคาด -3.5 ถึง -5.0% ซึ่งถือว่าเป็นการพลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน จากผลของกลุ่มสินค้าเกษตร ที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ขณะที่การนำเข้าเดือนส.ค.มีมูลค่า 23,919 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12.8% ส่งผลให้ในเดือนส.ค.66 ไทยเกินดุลการค้า 360 ล้านดอลลาร์ ส่วนการส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่ารวม 187,593 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.5% การนำเข้า มีมูลค่า 195,518 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.7% ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ไทยยังขาดดุลการค้า 7,925 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ประเมินว่าการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จะขยายตัวเป็นบวกได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามากตามวัฎจักร ประกอบกับในช่วงไตรมาส 4 ปี 65 ฐานต่ำ คาดว่าการส่งออก ต.ค.-ธ.ค. น่าจะได้เห็นอะไรดีๆ เพราะมีออร์เดอร์เข้ามาเยอะ ซึ่งเป็นไปตามคาด ส่งออกภาพรวมทั้งปี -1 ถึง 0% น่าจะมีโอกาส ปีนี้เราข้อสอบยาก ถ้าเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน ทุกคนคะแนนไม่ดี (ส่งออกติดลบ) แต่เรายังสามารถยืนอยู่แถวหน้าได้ หากจะให้การส่งออกไทยปีนี้ไม่ติดลบ หรืออยู่ที่ 0% มูลค่าการส่งออกในช่วง 4 เดือนที่เหลือ (ก.ย.-ธ.ค.) จะต้องทำให้ได้เดือนละอย่างน้อย 24,960 ล้านดอลลาร์

สำหรับการส่งออกรายกลุ่มสินค้าในเดือนส.ค.พบว่า สินค้าเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 2,217 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.2% ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี เช่น ผลไม้สด แช่เย็น-แช่แข็ง และแห้ง, ผักสด แช่เย็น-แช่แข็งและแห้ง,ข้าว ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออก 19,159 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.5% กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี เช่น สิ่งปรุงอาหาร, ผักกระป๋อง และแปรรูป, นม และผลิตภัณฑ์นม ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 1,815 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.6% โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 แต่สินค้าอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น หม้อแปลงไฟฟ้า, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด, รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

โดยปัจจัยสนับสนุนการส่งออกไทยที่สำคัญคือ สินค้าเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลักดันให้การส่งออกในภาพรวมขยายตัวได้ นอกจากนี้ การตระหนักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่มีส่วนช่วยให้เกิดการผลิตพลังงานทางเลือก แต่ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยท้าทายที่สำคัญ คือ ผู้บริโภคและภาคธุรกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญ มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการลงทุน จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ภาคการผลิตโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว

สำหรับตลาดส่งออกของไทย พบว่าส่วนใหญ่กลับมาขยายตัว สอดคล้องกับสัญญาณการปรับดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลก โดยตลาดหลัก ขยายตัว 2.3% โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่ขยายตัว 21.7% ตลาดจีน ที่กลับมาขยายตัว 1.9% และตลาดญี่ปุ่น ที่กลับมาขยายตัว 15.7% ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 2.4% โดยขยายตัวดีในตลาดทวีปออสเตรเลีย 22.4% ตลาดรัสเซียและกลุ่ม CIS ขยายตัว 30.4% และสหราชอาณาจักร ขยายตัว 10.7%

นายกีรติ กล่าวอีกว่า อยากให้มองที่มูลค่าการส่งออกมากกว่าอัตราการขยายตัวในแต่ละเดือน เนื่องจากจะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในระยะหลัง สามารถทำได้ถึงเดือน 23,000-24,000 ล้านดอลลาร์ ท่ามกลางหลายปัจจัยที่ยังรุมเร้า ซึ่งถือว่าเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนผู้ส่งออกของไทย ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยแม้จะติดลบ แต่ประเทศอื่นติดลบเยอะกว่าเรามาก อยากให้ focus ไปที่มูลค่ามากกว่า ซึ่งทำให้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจยังเดินต่อไปได้ ไม่ได้แย่ถึงขนาดที่ต้องกังวลมาก เพราะการส่งออกในเชิงมูลค่ายังเติบโตได้ดี

อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกในเดือนก.ย.อาจจะกลับมาติดลบได้ เนื่องจากเทียบกับฐานที่สูงในเดือนก.ย.ปีก่อน แต่ตั้งแต่เดือนต.ค.เป็นต้นไป หรือตลอดช่วงไตรมาส 4 เชื่อว่าการส่งออกจะยังคงเป็นบวก นอกจากนี้ จากภาวะเงินบาทที่อ่อนค่ามาอยู่ในระดับ 35 บาท/ดอลลาร์ ตั้งแต่ช่วงเดือนส.ค. และที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ ในเดือนก.ย.นั้น ได้ส่งผลดีต่อภาพรวมการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการช่วยเพิ่มกำลังซื้อ ส่งผลดีต่อการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสิรมการค้าระหว่างประเทศ ประเมินแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไปว่า การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนส์ด้านพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในช่วงปลายปี มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลเฉลิมฉลองในประเทศคู่ค้า

ส่วนแผนส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงรักษาเป้าหมายการส่งออกในปี 2566 ไว้อยู่ที่ 1-2% และมีนโยบายเร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากติดลบให้เป็นบวก โดย 1.ใช้ประโยชน์จาก Soft Power สร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและบริการไทยโดยเชื่อมโยงกับภาคบริการและการท่องเที่ยว 2.จัดทำและนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกในตลาดทั่วโลก เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองความต้องการ 3.แก้ไขปัญหาและอุปสรรคการค้าชายแดน